xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยพ่อ สพป.เมืองน้ำดำเขต 2 สืบประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว สานต่อศาสตร์พระราชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - สำนักงานเขตการศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาฬสินธุ์ เขต 2 สืบประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวแปลงนาข้าวโรงเรียนหนองสรวงวิทยาคม อ.หนองกุงศรี พร้อมหนุนโรงเรียนในสังกัด 171 แห่งเป็นสถานศึกษาที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ช่วงโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ให้เต็มประโยชน์สูงสุด

วันนี้ (22 พ.ย.)นายสมพงษ์ โรจน์ภัทรพงศ์ ผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 นำข้าราชการครู บุคลากร และนักเรียนในสังกัด จำนวน 70 คน ร่วมสืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวในแปลงนาโรงเรียนบ้านหนองสรวงวิทยาคม เนื้อที่ 2 ไร่ ซึ่งเป็นแปลงนาอินทรีย์ที่ปลูกโดยนักเรียนในสังกัด โดยนางระเบียบ จันทร์ชมภู ผู้อำนวยการโรงเรียนปอแดงวิทยา นำผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 เข้าร่วมอย่างคึกคัก

นายวรีชัย มูลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองสรวงวิทยาคม กล่าวว่า ได้น้อมนำเกษตรพอเพียงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นแนวทางในการสร้างภูมิความรู้ภูมิปัญญาศาสตร์ของพระราชา โดยนักเรียนระดับ ม.1-3 จำนวน 59 คน เป็นกลุ่มของเกษตรกรทำนาข้าวในโรงเรียนเนื้อที่ 2 ไร่ เป็นนาข้าวอินทรีย์ ปลอดปุ๋ยเคมี โดยใช้พันธุ์ข้าว กข.6

ทุกกระบวนการนักเรียนจะเป็นผู้ลงมือทำทั้งหมด โดยมีครูและผู้ปกครองช่วยบอกและแนะนำขั้นตอนการทำนา จนถึงการเกี่ยวข้าว

ปีนี้ได้สืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เพื่อเป็นต้นแบบให้เด็กนักเรียนได้เห็นภาพของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือกันและกันในชุมชนและสังคม

นอกจากนี้ยังนำประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวไปร่วมสร้างสัมพันธ์ในชุมชนและสถานศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ โรงเรียนฯ ได้น้อมนำศาสตร์ของพระราชาเข้ามาจัดระบบในส่วนของชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ว่างเปล่าของโรงเรียนให้เป็นสัดส่วน นอกเหนือจากพื้นที่เกษตรที่ได้มาแล้ว ยังได้ผลผลิตเป็นอาหารกลางวันปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ด้วย

ด้านนายสมพงษ์ โรจน์ภัทรพงศ์ ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 กล่าวว่า กิจกรรมเกษตรพอเพียงในช่วงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นการฝึกให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งแบบมีองค์ความรู้ จนเกิดเป็นภูมิปัญญาที่ลูกหลานต้องศึกษาและให้ความสำคัญ เพราะอาชีพเกษตรกรรม การทำนา เป็นอาชีพดั้งเดิมของพ่อแม่ที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น

แต่การทำนาของทางโรงเรียนจะเป็นนวัตกรรมและเป็นการทำนาแบบปลอดสารพิษ

อย่างเช่น แปลงนาข้าวของโรงเรียนหนองสรวงวิทยาคม ทั้งๆ ที่มีปัญหาอุทกภัย และการทำนาก็ไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมี แต่ใช้มูลสัตว์และอินทรียวัตถุ ทั้งตอซังและฟางข้าวไถกลบ

“แต่ยังมีผลผลิตและไม่ต้องเสียเงินค่าปุ๋ยแพงๆ ซึ่งส่วนนี้จะช่วยให้เยาวชนคนรุ่นใหม่กลับไปพลิกฟื้นผืนนาของตนเองให้เป็นแปลงนาที่มีคุณภาพได้ นาข้าวเป็นห้องเรียนมีชีวิตมีภูมิปัญญามากมายให้เรียนรู้” นายสมพงษ์กล่าว


สำหรับโรงเรียนหนองสรวงวิทยาคมมีพื้นที่กว่า 35 ไร่ โดยใช้พื้นที่ 6 ไร่เป็นส่วนของเศรษฐกิจพอเพียง บ่อปลา เลี้ยงไก่พื้นเมือง พืชผักสวนครัว และนาข้าว นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ป่าธรรมชาติเต็งรัง 4 ไร่ เป็นธนาคารอาหารป่าตามฤดูกาล นักเรียนกว่า 239 คน กับบุคลากร 19 คน มีการจัดสรรระบบการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านวิชาการ กิจกรรมเสริมทักษะ

รวมถึงการดึงชุมชนเข้ามามีบทบาทในสถานศึกษาที่ทำให้เกิดเป็นสถานศึกษาของชุมชน ผู้ปกครองส่งบุตรหลานมาศึกษาในโรงเรียนด้วยความไว้วางใจ

กำลังโหลดความคิดเห็น