อุทัยธานี - พาไปดู “กิ้งกือมังกรสีชมพู” สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อันดับ 3 ของโลก รออวดโฉมเยอะสุดต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงปลายฝนต้นหนาวกลาง “หุบป่าตาด” เผยออกมาให้ดูปีละครั้ง
ช่วงปลายฝน ต้นหนาวทุกปี หุบป่าตาด หมู่ที่ 1 ต.ป่าอ้อ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมของอุทัยธานี
“หุบป่าตาด” มีลักษณะเป็นป่าดึกดำบรรพ์ และมีสัตว์น้อยใหญ่หลากสายพันธุ์อาศัยอยู่ โดยเฉพาะกิ้งกือมังกรสีชมพู ที่พบในหุบป่าตาดแห่งเดียวในประเทศไทย และมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ประกาศให้เป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รออวดโฉมให้คนรักธรรมชาติได้ยล
สำหรับ “กิ้งกือมังกรสีชมพู” นั้นอยู่ในวงศ์กิ้งกือมังกร หรือพาราดอกโอโซมาติเดีย และมีสีชมพูสดใสแบบช็อกกิ้งพิงค์ อีกทั้งยังมีลักษณะโดดเด่นด้วยลวดลาย และปุ่มหนาคล้ายกับมังกร เมื่อโตเต็มวัย กิ้งกือมังกรสีชมพูจะมีลำตัวยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีปล้องราว 20-40 ปล้อง และสามารถขับสารพิษประเภทไซยาไนด์เพื่อป้องกันตัวได้อีกด้วย
กิ้งกือมังกรสีชมพูจะพบได้ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกชุกทำให้สภาพป่าหุบป่าตาดมีความชุ่มชื้น เหมาะแก่การขยายพันธุ์ของกิ้งกือมังกรสีชมพูที่มีความสวยงาม และรอที่จะอวดโฉมแก่นักท่องเที่ยวที่จะมาท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ
ทั้งก่อนที่จะเข้าไปภายในหุบป่าตาดป่าดึกดำบรรพ์แห่งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุนคอยประจำการให้ข้อมูลข่าวสารความรู้ต่างๆ พร้อมกับเป็นไกด์นำพานักท่องเที่ยวเข้าไปศึกษาธรรมชาติภายในหุบฯ และหากเป็นวันหยุด นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการแล้วยังมีมัคคุเทศก์น้อยจิตอาสา ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนในพื้นที่ชุมชนบริเวณโดยรอบด้วย
สำหรับการเดินเที่ยวชมภายในหุบป่าตาด จะมีระยะทางเดินไปกลับอยู่ที่ประมาณ 800 เมตร ตลอดเส้นทางเดินนั้นจะมีจุดที่น่าสนใจอยู่หลายจุด อาทิ ถ้ำที่มีความมืด หรือที่เรียกว่า อุโมงค์แห่งกาลเวลา ความยาวประมาณ 50 เมตร ภายในถ้ำจะมีความมืดสนิท เป็นที่อาศัยของค้างคาว
เมื่อเดินทะลุจากถ้ำอุโมงค์แห่งกาลเวลาแล้ว ตลอดระยะเวลาเดินทางภายในหุบป่าตาด จะได้พบกับพืชพันธุ์ไม้หายากนานาชนิด โดยเฉพาะป่าตาด พันธุ์พืชที่อยู่ในยุคดึกดำบรรพ์ หรือยุคไดโนเสาร์ เป็นพืชตระกูลเดียวกับปาล์ม เติบโตขึ้นได้อย่างอุดมสมบูรณ์ และจะพบหินงอกหินย้อยที่มีความสวยงาม ซึ่งสามารถจินตนาการเป็นรูปร่างต่างๆ นอกจากนี้ ภายในหุบป่าตาดยังมีสัตว์ป่าน้อยใหญ่อีกหลายสายพันธุ์อยู่ด้วย