xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานกัมพูชากว่า 2 หมื่นทะลักเข้าไทย รับเทศกาลตัดอ้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สระแก้ว - เตรียมรับมือแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา 2 หมื่นคน เข้ามาตัดอ้อยตั้งแต่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป หลังพบกระบวนการเข้าเมืองผิดกฎหมายจนต้องอนุโลม และสามารถนำแรงงานเข้าสู่ระบบได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากขั้นตอนล่าช้า ผู้ว่าฯ เตรียมเสนอใช้วันสต๊อปเซอวิสเสร็จในวันเดียว โดยนัดพิจารณาร่วมอีกครั้ง 21 พ.ย.นี้

วันนี้ (15 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมดอกแก้ว ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว ได้มีการประชุมพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ฤดูกาลผลิตปี 2559 ครั้งที่ 6 /2560 เพื่อรองรับฤดูการตัดอ้อยปี 2560/61 ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธาน และมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายสิทธิศักดิ์ ธารนัย แรงงานจังหวัด นายวสันต์ ปาลาศ จัดหางานจังหวัด เจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังบูรพา มณฑลทหารบกที่ 19 กอ.รมน.สระแก้ว ตำรวจตระเวนชายแดน หัวหน้าสถานีตำรวจ และตัวแทนทั้ง 9 อำเภอ บริษัทเอกชน นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 40 คน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้แต่ละหน่วยงานนำเสนอข้อมูลการปฏิบัติงานในปี 2559 ซึ่งพบว่า ประสบปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาในทางปฏิบัติชัดเจน เนื่องจากทางราชการตั้งเป้าว่าจะต้องนำแรงงานเข้าสู่ระบบที่หน่วยงานราชการกำหนดให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ คือ แรงงานมีบอร์ดเดอร์พาสตามกฎหมาย และเข้ามาทำงานชั่วคราวได้เพียง 3 เดือน แต่สามารถนำแรงงานเข้าสู่ระบบได้เพียง 3,177 คน จากจำนวนตัวเลขที่สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา แจ้งว่า มีการใช้แรงงานจริง 17,013 คน หรือคิดเป็น 18.67 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้มีการถกเถียงถึงขั้นตอนและวิธีการเพื่อให้การนำเข้าแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา มาเพื่อตัดอ้อยในฤดูกาลนี้ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.60 นั้นไม่เกิดปัญหาอีก โดยหน่วยทหาร และหน่วยความมั่นคงเป็นห่วงในขั้นตอนการอนุโลม จะส่งผลให้มีแรงงานที่ยังไม่เข้าสู่ระบบเล็ดลอดเข้าสู่ตลาดแรงงานชั้นใน ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า ขั้นตอนการปกติที่ผ่านมา ซึ่งมีการอนุโลมให้ชาวไร่อ้อยที่ต้องการใช้แรงงานกัมพูชาตัดอ้อยในแต่ละปี จะต้องไปขึ้นทะเบียนที่สมาคมฯ และติดต่อนำแรงงานเข้ามาเพื่อทำเอกสารที่สมาคมฯพร้อมนำไปพักไว้พักกับนายจ้าง รอขั้นตอนการส่งเอกสารไปยังด่าน ตม.ปอยเปต ประเทศกัมพูชา และด่านผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ก่อนนำแรงงานกลับไปผ่านแดนตามขั้นตอน และเข้าสู่กระบวนการขอโควตาจากจัดหางานจังหวัด และตรวจโรคตามกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ส่งผลให้เกิดการแออัดอย่างมากที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ เพราะแต่ละปีต้องใช้แรงงานมากถึง 20,000 คน ซึ่งปีที่แล้วมีตัวเลข 17,013 คน ไม่รวมผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานอีก 5,713 คน หากสามารถเปิดด่านผ่านแดนถาวรแห่งที่ 2 บ้านเขาดินได้ทันเวลา ก็จะลดขั้นตอน และเวลาดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า จากข้อมูลที่เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดรายงาน ว่า มีพื้นที่เพาะปลูกปี 60/61 เพียง 371,964 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 2.51 ล้านตัน มีเกษตรกร 66,579 ครัวเรือน ขณะที่โรงงานมีการหีบอ้อย 3.46 ล้านตัน จากเนื้อที่ 370,000 กว่าไร่ คาดว่าปีนี้จะมีอ้อยมากถึง 4 ล้านกว่าตัน และผลการดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวก็ไม่มีปัญหา มีแรงงานหลบหนีเล็กน้อย แต่มีปัญหาอยู่ที่การนำเข้าแรงงานเพื่อเข้าสู่ระบบได้ไม่ถึงร้อยละ 50 ประกอบกับปี 2651 พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวจะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.60 ดังนั้น ปีนี้ที่ประชุมจึงเห็นด้วยที่จะไม่มีการอนุโลมต่อไป และสามารถปรับวิธีการปฏิบัติที่ต้องใช้เวลา 7-10 วันให้สั้นลงได้หรือไม่

ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวอีกว่า สรุปว่าทางสมาคมเกษตรกรฯ ยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมาย จึงได้เสนอแนะเพื่อขอให้มีการพูดคุยกับทางกัมพูชาเพื่อหารือในประเด็นการอนุญาตเข้ามาทำงานร่วมกันอีกครั้ง หลังจากนั้น ทางหน่วยงานราชการไทยจะมาร่วมกันบูรณาการเพื่อให้กระบวนการสั้นลง หากสามารถดำเนินการได้แบบวันสต๊อปเซอวิส โดยขอความร่วมมือส่วนราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการวันเดียวได้แบบจบกระบวนการต่อไป ทั้งนี้ ได้กำชับว่าจะต้องไม่มีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ และใช้แรงงานเด็กแฝงมากับการใช้แรงงานตัดอ้อย พร้อมทั้งเตรียมนัดพิจารณาร่วมกันกรณีนี้อีกครั้งในวันที่ 21 พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม จัดหางานจังหวัดได้รายงานตัวเลขปัจจุบันว่า มีการนำแรงงานกัมพูชาเข้ามาในกิจการเกษตรทุกประเภทในปัจจุบันแล้ว จำนวน 14,000 คน



กำลังโหลดความคิดเห็น