ลำปาง - กฟผ.จัดเครื่องเจาะให้เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีเจาะซ้ำลึก 20 เมตร พิสูจน์สาเหตุดินทรุด-แตกร้าวทั่วหมู่บ้านแม่เมาะ ล่าสุดชั้นดินไถลตัวลึก 2 เมตร 2.5 หมื่นคิว เนื้อที่ 8 ไร่ แต่ชั้นล่างยังแน่น แนะให้รื้อบ้านออกหมด บอกถ้าจะอยู่ต่อต้องขุดหน้าดินทิ้ง 2 เมตร
หลังเกิดเหตุดินทรุด-แตกแยกเป็นรอยร้าวบริเวณหมู่บ้านห้วยคิง ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา จนทำให้บ้านที่ปลูกสร้างอยู่ในบริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบ 9 หลังคาเรือน ที่อยู่ห่างจากขอบเหมืองลิกไนต์ราว 2 กม. เบื้องต้นทางเทศบาลตำบลแม่เมาะได้ประกาศให้เป็นเขตอันตรายห้ามอยู่อาศัยไปแล้วนั้น
ต่อมาเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีได้ขุดเจาะชั้นดินลึกเพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของดิน โดยเบื้องต้นได้เจาะลึก 4-5 เมตร แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจน เจ้าหน้าที่ได้เข้าขุดเจาะตรวจสอบชั้นใต้ดินลึกลงไปอีกประมาณ 20 เมตรอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 6-12 พ.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนเครื่องเจาะจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม่เมาะ เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของชั้นดิน
นายเด่นโชค มั่นใจ ผู้อำนวยการส่วนบริหารทรัพยากรธรณี สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 ลำปาง เปิดเผยถึงการตรวจสอบชั้นใต้ดินดังกล่าวว่า ชั้นดินด้านล่างลึกลงไป 20 เมตร ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ มีเพียงชั้นดินด้านบน 1-2 เมตรเท่านั้นที่เกิดการเลื่อนไถลในปริมาณดิน 25,000 คิว เนื้อที่ 8 ไร่
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดดินทรุด-แยกมาจากฝนที่ตกหนักในช่วงก่อนเกิดเหตุ จนทำให้ดินด้านบนที่ไม่แน่นเกิดการไถลตัวลง
สำหรับแนวทางแก้ไข ได้แนะนำให้ทางจังหวัดลำปางพิจารณาดำเนินการใน 2 แนวทาง ได้แก่ 1. ต้องรื้อถอนบ้านออก 2. ต้องขุดหน้าดินที่ไถลตัวออกไปในระดับ 2 เมตร หากจะมีการปลูกสร้างบ้านเรือนเพื่อให้เกิดความมั่นคง และแข็งแรงต่อไป
ส่วนการป้องกันการไถลตัวของดินในกรณีที่พื้นที่นี้เกิดความลาดชัน และอยู่ใกล้ลำห้วย จะต้องมีการปักแนวเสาคอนกรีตเพื่อให้แผ่นดินมีความแน่นมากขึ้นกว่าเดิม