บุรีรัมย์ - เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ร่วมกับทหารมณฑลทหารบกที่ 26 ระดมจิตอาสาทั้ง 18 ชุมชนกว่า 200 คนเร่งเก็บเศษซากกระทงและขยะมูลฝอยที่ลอยเกลื่อนคลองละลมโบราณทั้ง 6 ลูกนำไปทำลายฝังกลบ เผยใช้วัสดุย่อยสลายง่ายทำกระทงเพิ่มขึ้น ส่วนวัสดุย่อยสลายยากมีอยู่เพียงกว่าร้อยละ 5
วันนี้ (4 พ.ย. 60) นายกมล เรืองสุขศรีวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ พร้อมด้วย พ.อ.ทินกร ประสีระเตสัง รองเสนาธิการ มณฑลทหารบกที่ 26 ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จ.บุรีรัมย์ นางสิรินันท์ มณีราชกิจ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ได้ระดมเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กองช่างสุขาภิบาล ร่วมกับกำลังทหารจากมณฑลทหารบกที่ 26 จิตอาสา และกรรมการชุมชนทั้ง 18 ชุมชน กว่า 200 คน
ช่วยกันเก็บเศษซากวัสดุกระทง และขยะมูลฝอยที่ลอยเกลื่อนในคลองละลมโบราณทั้ง 6 ลูก ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานลอยกระทง และเปิดให้ประชาชนนักท่องเที่ยวนำกระทงมาลอยเพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณี และขอขมาแม่พระคงคาเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา เพื่อนำไปคัดแยกและทำลายฝังกลบที่บ่อกำจัดขยะของเทศบาลฯ ป้องกันการเน่าเสีย และก่อให้เกิดมลภาวะในคลองละลมโบราณ ทั้งเป็นการปรับภูมิทัศน์บริเวณคลองละลมโบราณให้สะอาด สวยงาม ซึ่งคาดว่าภายในคลองละลมโบราณทั้ง 6 ลูกจะมีเศษซากวัสดุกระทงไม่น้อยกว่า 10,000 ใบ
ในปีนี้พบมีประชาชน นักท่องเที่ยวใช้วัสดุย่อยสลายง่ายมาประดิษฐ์กระทงเพิ่มมากขึ้น ส่วนวัสดุย่อยสลายยากมีอยู่เพียงกว่าร้อยละ 5 เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากทางเทศบาลฯ ได้รณรงค์และออกมาตรการห้ามพ่อค้าแม่ค้านำกระทงที่ประดิษฐ์จากโฟม หรือวัสดุย่อยสลากยากทุกชนิดมาวางจำหน่ายภายในงานเด็ดขาดเพื่อร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
สำหรับคลองละลมโบราณดังกล่าวถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมขอมที่มีประวัติการก่อสร้างมายาวนานตั้งแต่ก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ ทั้งยังเป็นสถานที่พักผ่อนและออกกำลังกายของประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วย โดยเฉพาะคลองละลมโบราณลูกที่ 1 ในช่วงเย็นของวันเสาร์ และวันอาทิตย์จะใช้เป็นสถานที่จัดตลาดถนนคนเดิน จึงต้องเร่งเก็บซากกระทง และเศษขยะให้แล้วเสร็จก่อนถึงวันเปิดถนนคนเดินด้วย
นายกมล เรืองสุขศรีวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ กล่าวว่า ปีนี้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวสนใจร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจพบว่ากระทงส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง ต้นกล้วย และดอกไม้ชนิดต่างๆ รวมทั้งขนมปังที่ย่อยสลายง่ายไม่ก่อให้เกิดมลพิษในแม่น้ำลำคลอง แต่ยังมีวัสดุที่ย่อยสลายยาก เช่น โฟม พลาสติก อยู่เพียงร้อยละ 5 ซึ่งปีต่อไปจะรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ประชาชน นักท่องเที่ยวหันมาใช้วัสดุธรรมชาติให้ครบ 100% เพื่อไม่ให้กระทบแม่น้ำลำคลอง