xs
xsm
sm
md
lg

ชี้เศรษฐกิจอีสานไตรมาส 3 ขยายตัวดีต่อเนื่อง เหตุรัฐกระตุ้น ทั้งการบริโภคเอกชนเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ธปท.อีสานเผยภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 3 ขยายตัวต่อเนื่องและทั่วถึง เหตุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐประสบผล การบริโภคเอกชนขยายตัว และรายได้ภาคเกษตรและภาคการค้าและบริการอยู่ในเกณฑ์ดี ยกโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในไตรมาสที่ 4 ถึง 9,540 ล้านบาท ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมครั้งล่าสุดไม่กระทบรุนแรง

วันนี้ (2 พ.ย. 60) ที่ห้องปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) จัดกิจกรรมแถลงข่าว เศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 3 โดยนายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ. พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนงานต่างๆ โดยมีผู้สื่อข่าวร่วมในกิจกรรมแถลงข่าวจำนวนมาก

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 3 ปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง และทั่วถึงมากขึ้น ตามภาพรวมเศรษฐกิจประเทศและเศรษฐกิจโลก โดยการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน

ขณะที่ด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ตามรายได้ภาคเกษตร ภาคการค้าและบริการที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนแผ่วลงจากภาคการก่อสร้างที่หดตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัว ด้านเงินฝากและสินเชื่อของสถาบันการเงินขยายตัวจากไตรมาสก่อน

ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 มีปัจจัยสนับสนุนคือ โครงการความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่กำลังขับเคลื่อน การค้าชายแดนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการรถไฟรางคู่ เป็นแรงส่งให้กับการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาปัจจัย แนวโน้มรายได้ภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายจังหวัดภาคอีสาน ทั้งรายได้ผู้ปลูกอ้อยลดลง อีกทั้งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเป็นตัวถ่วงการบริโภคภาคเอกชนลดลง

ส่วนกรณีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนในพื้นที่ภาคอีสาน มีผู้ลงทะเบียนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งสิ้น 4,710,330 คน ได้รับบัตรแล้ว 4,292,596 คน หรือร้อยละ 91.1 อยู่ระหว่างดำเนินการ 417,734 คน หรือร้อยละ 8.9 ปัญหาที่พบคือร้านธงฟ้าประชารัฐที่พร้อมรับการใช้จ่ายมีเพียง 3,201 ร้านค้า หรือแค่ร้อยละ 25 ส่วนร้านธงฟ้าอีก 9,589 ร้านค้าไม่พร้อมให้บริการรับบัตร หรือกว่าร้อยละ 75 อยู่ระหว่างติดตั้งเครื่อง EDC

“ผลจากการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่ภาคอีสาน จะมีเม็ดเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 1,272 ล้านบาท/เดือน ในช่วงไตรมาสที่ 4 จะเกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงถึงไตรมาสละ 9,540 ล้านบาท” นายสมชายกล่าว และว่า

ส่วนผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงน้อยกว่าเมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา โดยน้ำท่วมครั้งนี้มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย 480,000 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1,850 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลกระทบครั้งก่อนหน้าที่น้ำท่วมพื้นที่เกษตรถึง 5 ล้านไร่ คิดเป็นความเสียหายถึง 6,410 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น