ขอนแก่น/อุดรธานี - มข.จัดงานสีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชาน้ำ ภายใต้แนวคิดไม่หลงของเก่าไม่เมาของใหม่ หวังเปลี่ยนแนวคิดคนรุ่นใหม่ที่ตีค่าเพียงแค่สัญลักษณ์ความโรแมนติก ขณะที่ มรภ.อุดรธานีดึงทุกภาคส่วนในสถาบันร่วมอนุรักษ์ประเพณีลอยกระทง ชูความสำคัญอันทรงคุณค่าของวัฒนธรรมชาวไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่ำคืนที่ผ่านมา ที่บริเวณบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการจัดงานลอยกระทง สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชาน้ำ ภายใต้แนวคิด ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย.นี้
ภายในงานจัดแบ่งออกเป็น 4 โซนวัฒนธรรม ประกอบด้วย โซนมรกตวารี มีการโชว์ว่าวอีสาน มวยไทย ขบวนแห่กระทงตระการตา กระทงไฟกลางน้ำ หนังกลางแปลง, โซนเวทีชลสถาน มีการประกวดฟ้อนลำแคนคอนเทสต์ และลานวัฒนธรรมย้อนยุค, โซนอมฤต มีกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ 65 รูป พิธีอัญเชิญพระอุปคุต ขบวนแห่ขันหมากเบ็ง และโซนถนนเนรมิตธารา มีกิจกรรมครีเอทีฟ วอล์กกิ้งสตรีท ลอยกระทงสมมาบูชาน้ำ และขบวนแห่ kku festival
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติแบบไทยตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายนตามปฏิทินสุริยคติ ประเพณีดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อแม่พระคงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์ หรือพระมหาสาวก
รศ.ดร.กิตติชัยระบุว่า ตามสภาพสังคมในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าประเพณีลอยกระทงมักถูกตีความเป็นสัญลักษณ์ของความโรแมนติก ด้วยความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงพยายามปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์งานลอยกระทงไทยให้เป็นงานบุญสมมาบูชา เฉกเช่นแต่โบราณที่เคยสานต่อกันมา
จัดภายใต้ชื่องาน สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชาน้ำ ภายใต้แนวคิด “ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่” แต่ยังคงรักษารูปแบบเดิมเอาไว้ได้ตามสมควร เพื่อให้เกิดความร่วมสมัย สามารถรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้ โดยที่เยาวชนรุ่นใหม่ให้การยอมรับ และร่วมรักษาเอกลักษณ์ประเพณีดีงามด้วยกันสืบไป
ม.ราชภัฏอุดรฯ เดินหน้าสืบประเพณีลอยกระทง
ขณะเดียวกัน ค่ำวานนี้ (1 พ.ย.) ณ ลานศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี รองศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย ม่วงประถม รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นประธานเปิดโครงการ สมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีปประเพณีลอยกระทง ประจำปีการศึกษา 2560 โดยมีผู้บริหาร อาจารย์ ครู นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีเข้าร่วมงานจำนวนมาก
นางสาวศิริวิภา แทบสี นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า ประเพณีลอยกระทงได้เข้าสู่ประเทศไทยสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และวิวัฒนาการมาจนถึงสมัยปัจจุบัน ถือได้ว่าประเพณีลอยกระทงที่คนไทยยึดปฏิบัติมามีแต่โบราณ มีคติความเชื่อหลากหลาย โดยเชื่อว่าเป็นการบูชาและขอขมาแม่พระคงคาในการสะเดาะเคราะห์ เป็นการบูชาพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้แสดงถึงความผูกพันระหว่างมนุษย์กับแม่น้ำอย่างลึกซึ้ง
องค์การนักศึกษาจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีลอยกระทง ให้นักศึกษาและบุคลากรได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามของไทย และเห็นความสำคัญคุณค่าของวัฒนธรรมชาวไทย
ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย เช่น การประกวดกระทงสร้างสรรค์ ทั้งกระทงใหญ่ กระทงเล็ก ขบวนแห่กระทงวัฒนธรรมจากนักศึกษา 5 คณะ และขบวนของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งแต่ละขบวนแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ การออกร้านจำหน่ายกระทง อาหาร การละเล่น การแสดงนาฏศิลป์ และกิจกรรมไฮไลต์ของงาน คือ การประกวดนางนพมาศ ซึ่งผู้ที่ได้ตำแหน่ง ได้แก่ นางสาวมณฑาทิพย์ ไชยสุระ หรือน้องแพม จากคณะวิทยาศาสตร์
ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามอย่างหนึ่งของชาวไทย ที่แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อสายน้ำที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวไทยมาช้านาน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดงานประเพณีลอยกระทงเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันงดงามของชาติให้แก่นักศึกษาชาวไทย และชาวต่างชาติ
อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีไทย และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์