xs
xsm
sm
md
lg

ครู ผู้ปกครอง นักเรียนบ้านบนเขาแก่งเรียงสุดผวา แผ่นดินยุบตัวนานนับปีไร้หน่วยงานเหลียวแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาพดินที่ยุบตัว มีขนาดใหญ่
กาญจนบุรี - ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนบ้านบนเขาแก่งเรียง ต.ท่ากระดาน สุดผวา แผ่นดินยุบตัวนานร่วมปี และขยายวงกว้างลึกเท่าตึก 4 ชั้น ยังไร้หน่วยงานดูแล วันที่ 1 พ.ย.เปิดเทอม หวั่นผู้ปกครองไม่ส่งบุตรหลานมาเรียน วอนภาครัฐแก้ไขด่วน

วันนี้ (28 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เกิดเหตุดินยุบตัวเป็นหลุมขนาดใหญ่บริเวณโรงเรียนบ้านบนเขาแก่งเรียง หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์จ.กาญจนบุรี จึงเดินทางไปตรวจสอบ ไปถึงพบนายสมวุฒิ ศรีสังวร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบนเขาแก่งเรียง นายสำราญ สุนทราลัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 นายสมจิตร์ แก้วแจ่ม สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่ากระดาน รวมทั้งคณะครู ศิษย์เก่า ชาวบ้าน และเด็กนักเรียนอยู่ที่บริเวณดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ร.29 พัน 2 เข้าร่วมตรวจสอบเพื่อรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเป็น

จากการตรวจสอบพบว่า จุดที่ดินยุบตัวนั้นมี 2 จุด อยู่ใกล้กัน ซึ่งทั้ง 2 จุด ลึกประมาณ 15-20 เมตร โดยจุดแรกลักษณะของปากหลุมนั้นเป็นทรงกลมกว้าง ลึกลงไปเป็นทรงกระบอกตรง และมีการขยายขอบผนังของหลุม ซึ่งปากของหลุมกว้างหลายสิบเมตร ส่วนจุดที่ 2 ลึกประมาณ 15-20 เมตรเช่นกัน แต่ลักษณะการยุบตัวนั้นเป็นทางยาวคล้ายกับลำห้วยขนาดใหญ่ โดยจุดที่ดินยุบทั้ง 2 จุด อยู่ในแนวร่องน้ำไหลผ่าน

ส่วนบริเวณโดยรอบมาถึงอาคารเรียน และห้องพักครูมีร่องรอยแตกแยกของผิวดินเป็นทางยาวหลายจุด สำหรับห้องเก็บพัสดุตั้งเกยอยู่กับปากหลุม เชื่อว่าอีกไม่นานคงจะพังถล่มตกลงไปในหลุม และพบว่าที่บริเวณดินยุบจุดแรกนั้นมีต้นมะเดื่อขนาดใหญ่ อายุมากกว่า 50 ปี โค่นล้มทับอยู่กับปากหลุม

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า เจ้าหน้าที่สำนักเทคโนโลยีธรณีกรมทรัพยากรธรณี ได้เข้ามาสำรวจเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ระบุเอาไว้ว่า น้ำที่ไหลลงมาบริเวณนี้มีการกัดเซาะตะกอนดินตามแนวรอยแตก และเพดานดินที่ปิดทับด้านบนแล้วเกิดการยุบตัวของพื้นผิวดินตามแนวรอยแตกใต้ดิน ลักษณะธรณีวิทยารอบพื้นที่หลุมยุบเป็นธรณีวิทยาหินปูน อายุเพอร์เมียน ลักษณะเนื้อหินเป็นหินปูน เนื้อโดโลไมต์สีเทาดำ มวลชั้นหินหนามีรอยแตกมาก มีโพรงขนาดเล็กกระจัดกระจาย บางบริเวณจะมีโพรงที่ลึกในแนวดิ่ง ตามแนวรอยเลื่อน และรอยแตกลักษณะธรณีวิทยาโดยบริเวณโรงเรียนเป็นพื้นที่ราบเป็นดินเหนียวปนทรายปกคลุม

ผลการสำรวจวัดค่าความโน้มถ่วงแสดงพื้นที่มีโอกาสเกิดหลุมยุบเป็นขอบเขตซึ่งมีทิศทางขนานไปกับแนวทางน้ำไหลผ่านทางด้านทิศใต้ ไปจนถึงทิศตะวันออกของโรงเรียน โดยสรุปจากผลการสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยวิธีวัดค่าความโน้มถ่วงโลก และวัดค่าความสภาพต้านทานไฟฟ้าพบว่าลักษณะภูมิประเทศของชั้นหินใต้ผิวดินมีลักษณะคาสต์ (karst) ของหินปูน เนื่องจากตะกอนที่ปิดทับมีความหนาแปรเปลี่ยนค่อนข้างมากในบริเวณตอนกลางของพื้นที่สำรวจ ลักษณะความไม่ต่อเนื่องของค่าสภาพต้านทานไฟฟ้าของชั้นต่างๆ แสดงอย่างชัดเจน สันนิษฐานว่า โพรง หรือรอยแตก รอยเลื่อนอาจเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว

โดยเจ้าหน้าที่สำนักเทคโนโลยีธรณี กรมทรัพยากรธรณี ยังระบุอีกว่า พื้นที่ดังกล่าวมีทางน้ำไหลผ่าน และลงไปในช่องใต้ดินซึ่งจะเป็นตัวเร่งในการขยายขอบเขตของหลุม จึงควรมีการปรับเปลี่ยนทางน้ำไม่ให้มีการไหลผ่านในบริเวณดังกล่าวเพื่อลดผลกระทบจากการขยายตัวของหลุมยุบ

นายสมวุฒิ ศรีสังวร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบนเขาแก่งเรียง เปิดเผยว่า หลุมที่ยุบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ช่วงเวลาประมาณตี 3 หลังเกิดเหตุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เข้ามาสำรวจ และเยี่ยมเยือน พร้อมกับให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหา เดิมพื้นที่ใกล้เคียงนั้นเป็นลำห้วยไหลผ่านรอบโรงเรียนลงไปที่จุดที่เป็นน้ำตก ซึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากอย่างรุนแรง เป็นเหตุทำให้ลำห้วยนั้นทรุดตัวลง แต่ขณะนั้นยังไม่ขยายวงกว้างถึงเพียงนี้ แต่มาในปีนี้หลุมยุบได้ขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น ทำให้อาคารเรียน รวมทั้งบ้านพักครูมีความเสี่ยงที่จะถล่มลงไปอีก

ดังนั้น ทางคณะครู คณะกรรมการโรงเรียน รวมทั้งศิษย์เก่ากำลังหาแนวทางระดมทุนที่จะมาดำเนินการสร้างคลองส่งน้ำลักษณะตัว V ขึ้น เพื่อต้องการให้เปลี่ยนทางน้ำไหล ตามที่ทางสำนักเทคโนโลยีธรณีกรมทรัพยากรธรณี แนะนำมา แต่เงินที่ได้มานั้นคงจะไม่เพียงพอในการนำมาสร้างคลองตัว V

สำหรับช่วงนี้อยู่ระหว่างการปิดเทอม ซึ่งวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นวันเปิดเทอมแล้ว ซึ่งทางโรงเรียนได้มีแผนเอาไว้ว่าจะให้นักเรียนไปเรียนตามอาคารที่อยู่ห่างออกไป และจะกันพื้นที่เอาไว้ไม่อนุญาตให้เด็กนักเรียนมาวิ่งเล่นใกล้กับบริเวณหลุมยุบ เพราะถือว่าเป็นเขตอันตราย ที่จริงทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้เด็กนักเรียนมาวิ่งเล่นบริเวณนี้มาตั้งแต่เกิดเหตุเมื่อปี 2559 แล้ว

ด้าน นายสมจิตร์ แก้วแจ่ม สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระดาน เปิดเผยว่า เหตุการณ์ดินยุบนั้นเกิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เพียงแค่เข้ามาสำรวจ แล้วก็เงียบหายไป จนกระทั่งหลุมได้ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ลึกประมาณ 20 เมตร หรือเท่ากับความสูงของตึก 4 ชั้น จนกระทั่งต้นมะเดื่อขนาดใหญ่ อายุมากกว่า 50 ปี โค่นล้ม และนอกจากนี้อาคารเรียน รวมทั้งบ้านพักครูก็สุ่มเสี่ยงต่อการพังถล่มลงมา ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นเมื่อไหร่ ขณะเดียวกัน ชาวบ้านเริ่มไม่กล้าที่จะให้บุตรหลานมาโรงเรียนเพราะเกรงว่าจะได้รับอันตราย

สำหรับหน่วยงานที่ตนแจ้งไปเพื่อให้เข้ามาให้ความช่วยเหลือนั้น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานฯ นอกจากนี้ ยังขอความช่วยเหลือไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมทั้งการไฟฟ้า กรมเจ้าท่า และจังหวัดกาญจนบุรีด้วย

โดยวันที่ดินยุบครั้งแรกนั้นเกิดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 เวลากลางคืน ซึ่งขณะนั้นมีครูพักอยู่ที่บ้านพักครูกว่า 10 คน ซึ่งทุกต่างก็ตื่นตระหนกตกใจกันทั้งหมด เนื่องจากเกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหวคล้ายกับรถบรรทุกชนประสานงากันอย่างแรง

ส่วน นายสำราญ สุนทราลัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 กล่าวว่า หลังเกิดเหตุตนได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นทราบแล้ว และที่ผ่านมา ก็ได้เข้ามาสำรวจ แต่ยังไม่มีการสั่งการใดๆ ลงมาทั้งสิ้น
อยู่บริเวณโรงเรียนบ้านบนเขาแก่งเรียง หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน
หวั่นเกิดอันตรายแก่เด็กนักเรียน
กำลังโหลดความคิดเห็น