xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เตือนชาวลุ่มน้ำพอง-น้ำชีอย่าตื่นข่าวลือ เร่งระดมช่วยเหลือชาวบ้านน้ำท่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กฟผ.ย้ำเหตุปล่อยน้ำเขื่อนอุบลรัตน์จาก 50 ล้าน ลบ.ม. เป็น 54 ล้าน ลบ.ม.เป็นการเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ขั้นบันได สร้างความสมดุลทั้งด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวลือ เผยพร้อมระดมทุกภาคส่วนให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างเต็มที่

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่บ้านท่ากระเสริม ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายวรวิทย์ นิภาพงศ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กฟผ., นายณรงค์ ไตรกิจวัฒนกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กฟผ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้ปฏิบัติงาน จิตอาสา กฟผ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจราษฎรผู้ประสบภัย และรับทราบสถานการณ์น้ำ ผลกระทบจากน้ำท่วม พร้อมให้การช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ประสบอุทกภัยตามจุดต่างๆ

ขณะเดียวกันก็ได้มอบถุงยังชีพ กฟผ. จำนวน 1,000 ถุง และน้ำดื่มแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเพื่อเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยมี นายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอน้ำพอง เป็นผู้รับมอบ และได้นำส่งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่บ้านท่ากระเสริม ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

นายวรวิทย์ นิภาพงศ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กฟผ. เปิดเผยว่า ปีนี้สภาพอากาศในพื้นที่ภาคอีสานได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน และหย่อมความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้มีฝนตกหนักมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ 435 ล้าน ลบ.ม. ในเดือนมิถุนายนอีก 367 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อเดือนกรกฎาคม เริ่มจากพายุโซนร้อน “ตาลัส” ตามด้วยพายุ “เซินกา” จากอิทธิพลพายุทั้งสองลูกทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนในเดือนกรกฎาคมอีก 669 ล้าน ลบ.ม.


ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักในพื้นที่ภาคอีสาน และช่วงเดือนสิงหาคมมีพายุไต้ฝุ่น “ฮาโตะ” และพายุโซนร้อน “ปาข่า” ซึ่งไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าประเทศไทยโดยตรง แต่ส่งผลกระทบทางอ้อมทำให้เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำและมีฝนตกในพื้นที่ภาคอีสาน มีน้ำไหลเข้าเขื่อนถึง 785 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อวันที่ 15 กันยายนพายุไต้ฝุ่น “ทกซูรี” เข้าสู่ประเทศไทย ตามด้วยพายุไต้ฝุ่น “ขนุน” ซึ่งสลายตัวก่อนเข้าถึงประเทศไทย ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น 860 ล้าน ลบ.ม.

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา พื้นที่รับน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ทั้งหมด 1,200 ตาราง กม. ตั้งแต่ภูกระดึง จ.เลย ซึ่งเป็นต้นน้ำของลำน้ำพอง จ.หนองบัวลำภู ต้นน้ำของลำน้ำพะเนียง และต้นน้ำเชิญ แถบเทือกเขาน้ำหนาว ได้เกิดฝนตกหนักมาก ทำให้น้ำไหลเข้าเขื่อนถึงวันละกว่า 100 ล้าน ลบ.ม.

ข้อมูลจากระบบโทรมาตรของเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งได้ติดตั้งสถานีวัดน้ำฝนกระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำพอง พบว่ามีปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2560 อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง และมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นวัดได้ 104 มม. ณ สถานีวัดน้ำ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู (ลำพะเนียง) 60 มม. ณ สถานีวัดน้ำ อ.สีชมพู (ลำน้ำพอง) และ 37 มม. ณ สถานีวัดน้ำ อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ (ลำน้ำเชิญ)

ลำน้ำหลักทั้งสามสายที่ไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ทำให้ปริมาณน้ำสูงเกินกว่า 100 ล้าน ลบ.ม./วัน ต่อเนื่อง 7 วัน มีน้ำไหลเข้าถึง 141 ล้าน ลบ.ม./วัน และเกินความจุเขื่อน 100% เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน


ผอ.โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าวอีกว่า การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์จะดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นประธานและที่ปรึกษา มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานคณะกรรมการฯ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอนแก่น เป็นเลขานุการ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เช่น ชลประทาน นายอำเภอ ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน เกษตร อุตุนิยมวิทยา ท้องถิ่นจังหวัด รวมทั้ง กฟผ.ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ซึ่งจะพิจารณากำหนดปริมาณการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ และประเมินสถานการณ์ทั้งแม่น้ำพองและแม่น้ำชีในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

จากสถานการณ์น้ำปัจจุบัน คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน โดยยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 78 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 50 ล้าน ลบ.ม. จึงยังต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์อย่างใกล้ชิด

ดังนั้น เขื่อนอุบลรัตน์มีความจำเป็นปล่อยน้ำตามมติคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน หน่วยงานด้านท้องถิ่น นายอำเภอ ชลประทาน และฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าประชุมตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งด้านเหนือเขื่อนและด้านท้ายเขื่อน การปล่อยน้ำจาก 50 ล้าน ลบ.ม. เป็น 54 ล้าน ลบ.ม. เป็นการเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ขั้นบันได และเป็นปริมาณน้ำที่เป็นไปตามการคาดการณ์

ทั้งนี้ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการทราบสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ สามารถติดตามได้ที่ application EGAT WATER ใน Smart Phone และทางเว็บไซต์ http://nehcc-inter.egat.co.th และสามารถติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชม. ที่ 0-4344-6393

กำลังโหลดความคิดเห็น