อุดรธานี - ชาวอุดรธานีร่วมซ้อมรำแสดงความอาลัยถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ด้านผู้แต่งเพลงใช้ประกอบรำเผยช่วงที่แต่งคิดไม่ค่อยออก แต่พอยกมือขอพระราชทานพรจากพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านในปฏิทิน ไม่นานนักเพลงนี้ก็เขียนเสร็จซึ่งเป็นสิ่งอัศจรรย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานสังคีต สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม ประชาชนชาวอุดรธานีทุกเพศทุกวัยกว่า 2,000 คนต่างพร้อมใจกันมาร่วมซ้อมรำเพื่อเตรียมพร้อมในการแสดงความอาลัยในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ณ มณฑลพิธีทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีอาจารย์จากคณะครุศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นผู้นำสอนรำ
อาจารย์บรรจง จันทร ข้าราชการบำนาญ ผู้เรียบเรียงเนื้อร้อง และสอนท่ารำ เปิดเผยว่า สำหรับเพลง ถวายอาลัย ที่ใช้ประกอบการรำแสดงความอาลัยฯ ครั้งนี้ดัดแปลงมาจากเพลงสาวสายอวยพร ซึ่งอาจารย์ดำเกิง ไกรสรกุล แต่งขึ้น ต่อมานำมาดัดแปลง 2 ครั้ง ครั้งแรกดัดแปลงใช้ในโอกาสที่ ร.๙ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗๐ พรรษา เพื่อใช้รำถวายพระพร
หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคตก็มาดัดแปลงอีกครั้งเพื่อแสดงความอาลัย ขณะคิดดัดแปลงเพลงอยู่นานก็คิดไม่ค่อยออก ได้มองไปยังพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร.๙ ในปฏิทิน จึงยกมือขอพระราชทานพร ไม่นานเพลงนี้ก็เขียนเสร็จ ซึ่งเป็นสิ่งอัศจรรย์
ส่วนท่ารำ ได้กำหนดท่ารำตามบทขับร้อง ตามหลักนาฏศิลปะไทย ที่เรียกว่า การรำตีท่า หรือรำใช้บทตามบทขับร้อง
โดยท่ารำจะเป็นลักษณะของท่ารำไทยผสมกับท่ารำพื้นบ้านอีสาน โดยเพลงนี้มีจุดเด่นที่เนื้อร้องและท่วงทำนอง ซึ่งเพลงนี้หากจะฟังให้ไพเราะก็เพราะก็เพราะได้ หากฟังให้เศร้าก็เศร้าได้
ซึ่งขณะที่บันทึกเสียง เราขอให้ทีมบันทึกเลือกใช้เครื่องดนตรีที่ให้เสียงที่โหยหวนเท่านั้น ที่สำคัญบทขับร้องเมื่อผู้ฟังได้ยินแล้วรู้สึกไว้อาลัยและรักพระองค์ท่านทันทีที่ได้ฟัง