อ่างทอง - ช่างทำหัวโขนเมืองอ่างทองสุดปลื้ม ร่วมเป็นจิตอาสา และได้รับเลือกให้ร่วมในงานฉลุพระโกศจันทน์ และหีบไม้จันทน์ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หลังก่อนหน้านี้ เคยเข้าร่วมทำงานถวายในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
วันนี้ (20 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายวิษณุ ผดุงศิลป์ ช่างทำหัวโขน และอดีตครูสอนวิชาศิลปะ วัย 57 ปี ซึ่งเป็นชาว จ.อ่างทอง หลังได้มีส่วนร่วมในการเป็นจิตอาสางานฉลุพระโกศจันทน์ และหีบไม้จันทน์ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ สำนักพระราชวัง ว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต ซึ่งตนเองมีหน้าที่ในการทำงานฉลุไม้จันทน์ ปิดทอง และปรับลาย
หลังสำนักพระราชวังได้ทำพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอม ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อจัดสร้างพระโกศ ทรงพระบรมศพเหนือพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ ในพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ
นายวิษณุ กล่าวว่า หลังลาออกจากอาชีพครูสอนวิชาศิลปะ และดนตรี มาสืบทอดอาชีพการทำหัวโขนของครอบครัว ที่มีมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นจิตอาสางานพระเมรุมาศเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต ที่ได้ร่วมทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย
“งานที่ได้รับมอบหมายให้ทำในครั้งนี้ถือว่าเป็นงานที่มีการออกแบบด้วยความวิจิตรบรรจง และมีความซับซ้อน จึงมีความตั้งใจในการทำงานเป็นอย่างมาก เพื่อให้งานออกมาสมพระเกียรติอย่างดีที่สุด ซึ่งงานแรกที่มีโอกาสได้เข้าร่วม คือ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 โดยมีหน้าที่เขียนเทวดานั่งถือตาลปัตรเพลิง จากนั้นก็มีโอกาสไปทดสอบฝีมือกับช่างสิบหมู่ จนได้รับคัดเลือกเป็นช่างเขียนคนเดียวที่ได้เข้าร่วมทำงานในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ในการทำงานเขียนเทวดาถือตาลปัตรเพลิง เขียนหงส์ ช่วยเจ้าหน้าที่ของสำนักช่างสิบหมู่ ลงสี เก็บรายละเอียดจนกว่างานจะแล้วเสร็จ ”
สำหรับงานฉลุไม้จันทน์ ปิดทอง และปรับลาย ที่เป็นส่วนประกอบของพระโกศจันทน์ และหีบไม้จันทน์ ซึ่งร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่นั้นต้องใช้เวลาในการทำงานกว่า 7 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งก็ถือวเป็นความภาคภูมิใจที่สูงที่สุดในชีวิต