xs
xsm
sm
md
lg

พุทธศาสนิกชนชาวมอญ ร่วมบำเพ็ญกุศลครบ 11 ปี วันมรณภาพ หลวงพ่ออุตตมะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - คลื่นพุทธศาสนิกชนชาวมอญ (ไทย-พม่า) ร่วมบำเพ็ญกุศลครบ 11 ปี วันมรณภาพ หลวงพ่ออุตตมะ ล้นทะลักวัดวังก์วิเวการาม

วันนี้ (18 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา พุทธศาสนิกชนชาวไทยเชื้อสายมอญ จากประเทศไทย และประเทศพม่า รวมทั้งนักท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่ และศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมากเดินทางไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลครบรอบวันมรณภาพ 11 ปี พระราชอุดมมงคล หรือหลวงพ่ออุตตมะ อดีตเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ที่บริเวณวัดวังก์วิเวการาม หมู่ 2 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยมี นายปกรณ์ กรรณวัลลี นายอำเภอสังขละบุรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มีนายโทมอน ประธานพรรคมอญใหม่ เข้าร่วม และได้นิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ จากวัดต่างๆ ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี มาร่วมงานบำเพ็ญกุศลในครั้งนี้ด้วย นอกจากนั้นประชาชนชาวไทยเชื้อสายมอญที่มาร่วมงาน รวมทั้งศิษยานุศิษย์ที่เคารพและศรัทธาในหลวงพ่ออุตตมะ ได้ร่วมกันออกโรงทาน นำอาหารคาวหวานชนิดต่างๆ มาเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงานอีกด้วย

ทั้งนี้ นางภัทรา เต็งเที่ยง เจ้าของโรงแรมศรีแดง ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกที่สร้างขึ้นใน อ.สังขละบุรี กล่าวว่า ครอบครัวของตนมีความเคารพ และศรัทธาในตัวหลวงพ่อมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่ โดยในวันที่ 18 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบวันมรณภาพของหลวงพ่อ เราจะปิดโรงแรมที่พักทุกปี เพื่อให้พนักงานมีโอกาสมาร่วมทำบุญด้วยการเปิดโรงทานนำอาหารคาวหวานมาเลี้ยงประชาชนที่มาร่วมงานฟรีทุกคน และที่สำคัญคือ วันที่ 26 ตุลาคมนี้ เป็นวันถวายดอกไม้จันทน์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทางอำเภอสังขละบุรี จัดขึ้นที่บริเวณสนามกีฬาวัดวังก์วิเวการาม ตน และครอบครัวจะปิดโรงแรมที่พักอีกครั้งหนึ่งเพื่อนำพนักงานโรงแรมมาช่วยกันนำอาหารคาวหวาน มาเลี้ยงประชาชนฟรี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพระราชอุดมมงคล หรือหลวงพ่ออุตตมะ เป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นที่เคารพนับถือของชาวไทยเชื้อสายมอญที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และชาวมอญที่อาศัยอยู่ที่ประเทศพม่า และหลวงพ่ออุตตมะ เป็นผู้ดำริให้มีการสร้างสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ หรือสะพานมอญ ข้ามลำน้ำซองกาเรีย เชื่อมต่อระหว่างอำเภอสังขละบุรี และชุมชนชาวมอญ บ้านวังกะ หมู่ 2 ซึ่งปัจจุบัน สะพานแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ และทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น