เชียงราย - อธิบดีกรมธนารักษ์ร่วมกับนายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหนุนประชาชนร่วมกันอนุรักษ์กำแพงเมืองเชียงแสน ถือเป็นแผนที่มรดกทางวัฒนธรรม
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ นายพินิจ แก้วจิตคงทอง นายอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เดินทางไปร่วมเปิดป้ายที่สื่อความหมายถึงการเป็นแผนที่มรดกทางวัฒนธรรมในเขตเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน ตรงบริเวณกำแพงเมือง-คูเมืองเชียงแสน ภายในเขตเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน ติดแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว
คณะได้ติดป้ายตรงวัดป่าสักใกล้คูเมืองเชียงแสนและประตูทางเข้าเมือง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขตเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสนดังกล่าวมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก โดยมีความเก่าแก่กว่า 1,000 ปี และเกี่ยวเนื่องกับอาณาจักรต่างๆ ทางภาคเหนือของประเทศไทยที่มีศิลปะก่อสร้างที่เป็นเอกลักษณ์
สำหรับกำแพงเมืองเชียงแสนที่เห็นอยู่ในปัจจุบันมีจารึกและเรื่องเล่าต่อกันมาว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1871 หรือประมาณ 689 ปีก่อนในสมัยพญาแสนภูซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์มังรายที่ครองอาณาจักรล้านนา โดยเป็นพระราชนัดดาของพญามังรายผู้สร้างอาณาจักรล้านนาในอดีต ดังนั้นประชาชนทุกคนจึงควรช่วยกันดูแลและอนุรักษ์คูเมืองเชียงแสนเพื่อให้เป็นมรดกอันทรงคุณค่าของประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ กำแพงเมืองเชียงแสนมีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลียมผืนผ้าที่ไม่สม่ำเสมอกัน โดยยาวไปตามภูมิประเทศ โดยมีขนาดความกว้าง 700 วา ยาว 1,500 วา รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,240 ไร่ กำแพงเมืองมี 2 ชั้นคั่นด้วยคูน้ำที่ทอดตัวล้อมรอบเมือง เว้นไว้แต่ทางด้านทิศตะวันออกที่ติดกับแม่น้ำโขงที่ใช้เป็นแนวกั้นตัวเมืองแทนกำแพง
ปัจจุบันถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและเป็นที่ราชพัสดุ โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และมอบหมายให้กรมธนารักษ์ทำหน้าที่ปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุตามการกำหนดขอบเขตที่ดินกำแพง คูเมืองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2534