xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวง ร.10 โปรดเกล้าฯ ให้ติดตามโครงการบรรเทาอุทกภัย และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมืองจันท์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จันทบุรี - สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ติดตามการดำเนินงานของโครงการบรรเทาอุทกภัย และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ด้วยทรงห่วงใยราษฎรที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำ ด้วยมีพระราชปณิธานที่จะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการในพระราชดำริ ให้เกิดความสมบูรณ์มั่นคง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และประเทศชาติ

วันนี้ (16 ต.ค.) พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี พร้อมคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการประตูระบายน้ำคลองภักดีรำไพ ในโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เทศบาลเมืองจันทนิมิต เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำของโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการป้องกันการเกิดอุทกภัย พร้อมรับฟังรายงานความก้าวหน้าจากผู้แทนกรมชลประทาน

จากนั้นได้เยี่ยม และพบปะราษฎร “คลองภักดีรำไพ” เป็นคลองที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ในปี 2541 เมื่อครั้งที่จังหวัดจันทบุรี ประสบปัญหาอุทกภัย เนื่องจากมีถนน 3 สายขวางกั้นเส้นทางน้ำ ทรงแนะวิธีแก้ไข คือ ต้องไปสำรวจดูว่าน้ำผันมาจากทางไหน แล้วหาช่องระบายน้ำให้สอดคล้องกัน

ต่อมา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 ได้พระราชทานพระราชดำริต่อ นายสุเมธ ตันติเวชกุล ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปความว่า “ให้กรมชลประทานกับกรมทางหลวงมาร่วมทำงานแก้ไข” รวมทั้ง “ให้ศึกษาหาแนวทางแก้ไขจัดการน้ำให้พอดี” และทรงย้ำเรื่อง “การประสานความร่วมมือกัน” จากนั้น กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีโดยเฉพาะเขตชุมชนเมือง

โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน เริ่มดำเนินในปี 2546-2553 โดยการสำรวจสภาพพื้นที่ ขุดลอกคลองและฝาย รวมทั้งปรับปรุงทางระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำจันทบุรี และลุ่มน้ำเวฬุ รวมถึงพัฒนาแก้มลิงในพื้นที่ต่างๆ ระยะที่ 2 ระหว่างปี2552-2560 ดำเนินการขุดลอกคลองผันน้ำสายใหม่ ซึ่งต่อมาคือ คลองภักดีรำไพ เพื่อผันน้ำส่วนเกินกว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไม่ให้เข้าตัวเมืองจันบุรี ให้ไหลออกสู่ทะเล ดำเนินการก่อสร้างอาคารประกอบตามแนวคลอง ก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 13 แห่ง พร้อมสถานีสูบน้ำรวม 6 แห่ง เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ช่วยป้องกันปัญหาอุทกภัย รวมถึงป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้งไม่ให้เข้ามาในบริเวณพื้นที่เมืองจันทบุรี ทำให้มีน้ำจืดตลอดทั้งปีสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 2,000,000 ลูกบาศก์เมตร และส่งน้ำสำหรับพื้นที่เกษตร และใช้ในกิจกรรมอื่นๆ บริเวณทุ่งสระบาป ตำบลหนองบัว และบริเวณใกล้เคียงโดยมีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 5,000 ไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้แก่ราษฎร

นอกจากประโยชน์ดังกล่าวฯแล้ว ยังช่วยส่งเสริมระบบคมนาคมให้มีความสะดวกมากขึ้น ประกอบกับความสวยงามบริเวณรอบพื้นที่โครงการฯ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของจังหวัดจันทบุรี และนอกจากนี้ ได้มีการสำรวจประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย พบว่า ร้อยละ 90.77 เห็นด้วยต่อการดำเนินงานโครงการฯ ต่อม าเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ โครงการคลองผันน้ำโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีว่า “คลองภักดีรำไพ” ซึ่งมีความหมายว่า คลองที่แสดงความจงรักในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

จากนั้นเวลาประมาณ 10.45 น. คณะองคมนตรีได้เดินทางไปยังโครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำคลองสามหนาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และรับฟังรายงานผลการดำเนินงานจากผู้แทนกรมชลประทาน เยี่ยมชมพื้นที่โครงการฯ และพบปะราษฎร

สืบเนื่องมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งเบญจา ได้ขอพระราชทานโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสามหนาด บริเวณนิคมแพร่งขาหยั่ง 3 ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร

จากการสำรวจพื้นที่พบว่า พื้นที่นิคมแพร่งขาหยั่ง 3 เป็นนิคมที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2502 โดยจัดสรรที่ราชพัสดุให้แก่ผู้ป่วย จำนวน 20 ครอบครัว สำหรับประกอบอาชีพเกษตร ครอบครัวละ 10 ไร่ บนพื้นที่บ้านนาบัว หมู่ที่ 13 ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ เป็นสวนผลไม้ 1,300 ไร่ ได้แก่ มังคุด ทุเรียน เงาะ ลองกอง เป็นต้น ปัจจุบัน มีประชากรรวม 517 คน จำนวน 130 ครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ย 44,115.80 บาทต่อคนต่อปี การทำเกษตรอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก

โดยมีอ่างเก็บน้ำคลองสามหนาด มีขนาดความจุประมาณ 100,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งก่อสร้างเมื่อปี 2526 เป็นแหล่งน้ำต้นทุน แต่ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำคลองสามหนาด มีสภาพตื้นเขินมาก ตัวเขื่อนดินมีสภาพทรุดโทรม วัชพืชปกคลุมหนาแน่น รวมทั้งทางระบายน้ำล้นมีสภาพชำรุดทำให้กักเก็บน้ำ และใช้น้ำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังพบว่าในพื้นที่แม้จะมีคลองเล็กๆ อีก 2 คลอง ได้แก่ คลองโปร่ง และคลองเขาลูกช้าง ก็ไม่สามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในบางปีที่ประสบปัญหาฝนแล้งรุนแรง และยาวนานได้ เกษตรกรจำเป็นต้องซื้อน้ำจากพื้นที่อื่นเพื่อใช้อุปโภคบริโภค และการเกษตร

ต่อมา ในปี 2559 กรมชลประทาน ได้รับการจัดสรรงบประมาณ และได้ดำเนินการปรับปรุงแหล่งน้ำต้นทุนที่มีอยู่ คือ อ่างเก็บน้ำคลองสามหนาด โดยการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงเขื่อนดิน และทางระบายน้ำล้น รวมทั้งปรับปรุงคลองระบายน้ำให้สอดคล้องต่อภูมิสังคม เทคนิควิศวกรรม และความต้องการของประชาชน ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรทั้งในด้านการอุปโภคบริโภค และการเกษตรได้เป็นอย่างดี





กำลังโหลดความคิดเห็น