นครปฐม - จ.นครปฐม แถลงผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ซึ่งผลการดำเนินงานสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และชุมชม รวมทั้งช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานอีกด้วย
วันนี้ (11 ต.ค.) ที่โรงแรมเวล อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย นายบุญเลี้ยง ข่ายม่าน เกษตรจังหวัดนครปฐม หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัด ผู้แทนเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ประธาน ศพก.จังหวัด ผู้แทนชุมชนรางพิกุล และประธานกลุ่มสมาชิก ร่วมแถลงผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมี นางฐานิยา นิยมญาติ ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า โครงการ 9101 มาจาก 9 คือ รัชกาลที่ 9, 10 คือ รัชกาลที่ 10 คือ ในหลวงรัชกาลปัจจุบัน และ 1 คือ ปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน มีหลักการสำคัญ คือ ให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดโครงการพัฒนาโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และบริหารจัดการโครงการด้วยตนเอง ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องต่อความต้องการของชุมชนแล้ว ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ และนำไปปฏิบัติจริงเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมต่อสภาพของท้องถิ่น และชุมชน อันจะส่งผลต่อเนื่องให้ภาคการเกษตรมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
สำหรับการดำเนินงานโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน จังหวัดนครปฐม มีเป้าหมายในการดำเนินโครงการ ทั้ง 7 อำเภอ โดยมี 132 ชุมชน โครงการ 236 โครงการ และได้รับงบประมาณ 147,829,391 บาท โดยแบ่งประเภทโครงการ จำนวน 8 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการผลิตพืช ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ด้านการจัดการศัตรูพืช ด้านฟาร์มชุมชน ด้านการผลิตอาหารการแปรรูปผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง และด้านการปรับปรุงดิน
ซึ่งการดำเนินโครงการที่ผ่านมาสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร และชุมชน ด้วยการน้อมนำหลักการทฤษฎี และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้ รวมทั้งช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานอีกด้วย