xs
xsm
sm
md
lg

รมช.เกษตร ฯ ลุยขอนแก่นจับมือโรงสี MOU ซื้อข้าวอินทรีย์ชาวนาป้อนตลาดส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - รมช.เกษตรฯ เป็นประธานลงนาม MOU ระหว่างโรงสีกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ขอนแก่นในโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP เผยตลาดส่งออกต้องการข้าวอินทรีย์สูงกว่า 4 หมื่นตันแต่เกษตรกรไทยผลิตป้อนไม่ไหว รัฐบาลเร่งหนุนเต็มที่ อย่างน้อย 5 ปีแรกต้องมีนาข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน บ้านหนองหวาย ต.หนองไผ่ล้อม อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น นางสาวชุติมา บุญยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการเจรจาจับคู่ธุรกิจและทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการซื้อขายข้าวตามโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการ จ.ขอนแก่น ดร.พัฒนา นุศรีอัน เกษตรและสหกรณ์ จ.ขอนแก่น ว่าที่ ร.ต.วรวุฒิ ขอดจันทึก เกษตร จ.ขอนแก่น นายคำนวณ สุวรรณดี พาณิชย์ จ.ขอนแก่น นายจำปา พาดฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น ว่าที่ ร.ต.วรวิทย์ หมู่สูงเนิน ปลัดอาวุโส รก.นอภ.หนองสองห้อง ผู้ประกอบการค้าข้าวและกลุ่มเกษตรกรโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ร่วมลงนาม

นางสาวชุติมา บุญยประภัศร รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้ข้าวอินทรีย์หรือข้าวปลอดสารเคมีเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก เฉพาะตลาดต่างประเทศมีความต้องการมากกว่า 4 หมื่นตัน แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตได้มากพอที่จะป้อนตลาดดังกล่าวได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร โดยตั้งเป้าภายใน 5 ปีแรกนี้จะส่งเสริมให้เกษตรกรไทยทำนาข้าวอินทรีย์ให้ได้ 1 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรอินทรีย์หรือผลิตข้าวอินทรีย์นั้นถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรไทย เพราะต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรใหม่หมด จากเดิมเคยใช้ปุ๋ยเคมีก็ต้องลดและเลิกใช้แล้วหันมาทำนาข้าวแบบพึ่งพาธรรมชาติเพียงอย่างเดียวเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องรวมกลุ่มกันอย่างน้อย 5 ราย รวมพื้นที่นาข้าวให้ได้ 100 ไร่ขึ้นไป แล้วเสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ผ่านหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในท้องถิ่น

หลังจากผ่านการพิจารณาเบื้องต้นแล้ว ก็จะมีนักวิชาการเกษตรให้ความรู้และตรวจสอบว่าสามารถทำได้ตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ โดยปีแรกจะได้รับเงินสนับสนุน 2,000 บาท/ไร่ ปีที่ 2 เพิ่มเป็น 3,000 บาท/ไร่ และปีที่ 3 หากผ่านการตรวจสอบก็จะได้รับการรับรองให้เป็นนาข้าวอินทรีย์และข้าว GAP โดยงบอุดหนุนนั้นจะจำกัดนาข้าวเพียง 15 ไร่เท่านั้น

นางสาวชุติมากล่าวว่า สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องยอมรับให้ได้ว่าการทำนาข้าวอินทรีย์นั้น ระยะแรก 2-3 ปีขาดทุนแน่นอนทั้งด้านปริมาณข้าวและเงินที่ใช้ลงทุนดูแล แต่หลังจากนั้นเมื่อผ่านเกณฑ์รับรองมาตรฐานแล้วจะเห็นได้ชัดว่าการทำนาข้าวอินรทรีย์ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการทำนาแบบเดิม

เพราะราคารับซื้อจากโรงสีคู่ค้าจะได้มากกว่าข้าวทั่วไปอย่างน้อยตันละ 500 บาท และมีตลาดรองรับไม่จำกัด

ดร.พัฒนา นุศรีอัน เกษตรและสหกรณ์ จ.ขอนแก่น ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจรของจังหวัดขอนแก่นมีโรงสีเข้าร่วมโครงการฯ 4 ราย คือ 1. บริษัท เค.ซี. รุ่งเรืองการเกษตร จำกัด 2. บริษัท เภเลกรีนา ไรซ์ จำกัด (กรุงเทพฯ) 3. บริษัท สำเภาทอง กรุ๊ป จำกัด (ปทุมธานี) และ 4. สหกรณ์การเกษตรเพื่อการเกษตรลูกค้า ธ.ก.ส.ขอนแก่น จำกัด โดยจะรับซื้อข้าวจากโครงการฯ ทั้งหมดจำนวน 32,900 ตัน

นอกจากนี้ยังมีโรงสีข้าวที่ยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีก 4 ราย โครงการ คือ บจก.เอี่ยมพิทักษ์ (อ.บ้านไผ่) 2. บจก.เกษตรสินโกลเด้นไรซ์ (อ.บ้านแฮด) 3. บจก.โรงสีข้าว ป.ณัฐตพล (อ.พล) 4. บจก.โรงสีข้าวมีชัย (อ.ชุมแพ)

“การลงนาม MOU เฉพาะจุดสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหนองสองห้องมีโรงสีเข้าร่วมลงนาม 8 ราย มีกลุ่มเกษตรกรลงนามรวมทั้งหมด 48 กลุ่ม และเป็นกลุ่มเกษตรนาแปลงใหญ่อีก 2 กลุ่ม ถือว่าเป็นการเริ่มต้นโครงการที่ดีมาก” ดร.พัฒนากล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น