xs
xsm
sm
md
lg

ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ผ่านด่านปชช. รองรับ 10 ล้านกว่าทีอียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบัง จัดกิจกรรมการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ครั้งสุดท้าย โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

วันนี้ (27 ก.ย.) ที่โรงแรมชลจันทร์ พัทยา รีสอร์ท จ.ชลบุรี นายนริศ นิรามัยวงศ์ นายอำเภอบางละมุง เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง

ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ในโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียดสำหรับการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน สถาบันการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

สำหรับการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ในครั้งที่ 3 นี้ ได้มีการนำเสนอสาระสำคัญของแผนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งจะพัฒนาพื้นที่ท่าเรือรวม 1,600 ไร่ ความยาวท่าเรือ 4,500 เมตร มีท่าเทียบเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่า ท่าเทียบเรือชายฝั่ง 1 ท่า และท่าเทียบเรือตู้สินค้า 4 ท่า

ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณเรือ และตู้สินค้าได้สูงถึง 18 ล้าน TEU/ปี ถือเป็นการดำเนินการสนองนโยบายรัฐบาลตามแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ตองการสร้างศักยภาพในภูมิภาคตะวันออกของไทยให้เข้มแข็งในเวทีอาเซียน ถือเป็นแผนเร่งด่วนที่รัฐบาลผลักดันให้ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เป็นประตูสู่การค้าไปยังประเทศพม่า กัมพูชา เวียดนามและลาวต่อไป

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาโดยมีการศึกษา และนำเสนอมาตรการป้องกันเพื่อลดผลกระทบ โดยได้ศึกษาใน 3 ระยะ คือ ระยะก่อนการก่อสร้าง ระยะการก่อสร้าง และระยะดำเนินการ ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การมีส่วนร่วมของประชาชน ด้านการกัดเซาะและการทับถมของตะกอนชายฝั่ง ด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำและทางบก ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย และด้านการจัดการกากของเสีย ซึ่งแต่ละด้านได้มีการวงมาตรการจัดการมาอย่างต่อเนื่องแทบทุกมิติ ในวันนี้เป็นการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างองค์รวมครั้งสุดท้าย ก่อนจะนำไปสรุปเพื่อดำเนินการต่อไป

ด้าน ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการการท่าเรือแหลมฉบัง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าของการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 นั้น แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 แนวทาง คือ การสำรวจทางวิศวกรรม และการทำประชาพิจารณ์เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามกฎหมายระบุให้มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากภาคสังคม 3 ครั้ง

โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งจากนี้จะทำการรวบรวมข้อเสนอ ข้อห่วงใย และคำชี้แนะไปทำการปรับแก้ร่างดังกล่าว จากนั้นจึงจะนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.เพื่อพิจารณาความเห็นชอบ ซึ่งโชคดีที่โครงการนี้ถือเป็นนโยบายรัฐ และในแผนของ EEC จึงมีกำหนดระยะเวลาของการพิจารณาไว้ให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือนหลังจากส่งร่างซึ่งคาดว่าจะเป็นในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

โดยหลังจากผ่านการพิจารณาแล้วก็จะเร่งดำเนินการจัดจ้างผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการ ซึ่งคาดว่าคงจะสามารถเริ่มได้ในช่วงเดือนมกราคมปี 2562 ในงบประมาณการก่อสร้างกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องของงบประมาณนี้อาจจะมาในรูปของการใช้เงินของการท่าเรือเอง การจำหน่ายพันธบัตรให้กู้ หรือกู้หนี้สาธารณะ โดยหากเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ก็คาดว่าโครงการท่าเรือระยะที่ 3 นี้ จะแล้วเสร็จในปี 2567-68

ร.ต.ต.มนตรี กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังรองรับตู้สินค้าได้กว่า 10.8 ล้าน TEU ต่อปี แต่ขณะนี้มีการใช้งานอยู่ที่ 7 ล้าน TEU ต่อปี แต่มีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยปีละ 5 แสนตู้ TEU ซึ่งในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า หากการก่อสร้างระยะที่ 3 แล้วเสร็จก็จะสามารถรองรับปริมาณตู้เพิ่มเติมได้อีก 7 ล้านTEU ต่อปี หลังจากที่พื้นที่เก่าเต็มในช่วงเวลาที่เหมาะสมพอดี ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างแน่นอน




กำลังโหลดความคิดเห็น