เชียงราย - “อ.เฉลิมชัย” ถึงกับท้อ หลังมีนายก อปท.มาคนเดียว-พระสงฆ์ 9 รูป ที่เหลือมีแต่ศิลปินร่วมเวที “คนเชียงรายกับเมืองศิลปะ” ทั้งที่ “เชียงราย” เป็น 1 ใน 3 เมืองศิลปะมีศิลปินมากสุดในประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยว-เม็ดเงินเข้าจังหวัดมหาศาล
วันนี้ (26 ก.ย.) นายศักดิ์ชาย วงศ์กนิษฐ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานเปิดการเสวนาเรื่อง “คนเชียงรายกับเมืองศิลปะ” ที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้นตามโครงการส่งเสริมสุนทรียทัศน์ภาครัฐและประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่เชียงรายเมืองศิลปะ ณ ห้องกินรี โรงแรมลักษวรรณ รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย
โดยมีพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) พระนักเทศน์ชื่อดัง, อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย, ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม, ดร.ภัททิรา วิภวภิญโญ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วมเสวนา
พระมหาวุฒิชัยกล่าวว่า ศิลปะมีความงาม หรือสุนทรียภาพ และสุนทรียภาพนั้นต้องมีความดี ความงาม ความจริง ความสงบ ความสมดุล ซึ่งคนที่จะมีศิลปะต้องมีจิตใจงามด้วย ไม่เช่นนั้นผลงานทางศิลปะที่สร้างสรรค์ออกมาก็จะถูกทำให้เสียหาย หรือถูกเพิกเฉยได้
เช่น ในไร่เชิญตะวัน อ.เมืองเชียงราย เคยนำช้างแกะสลักจากศิลปินที่เก่งกาจจำนวน 200 ตัวไปวางตกแต่ง แต่ถูกขโมยไปจนเหลือแค่ 50 ตัว และหลังจากตนไปเห็นความงดงามของสวนไผ่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น แล้วนำมาประยุกต์ปลูกที่ไร่เชิญตะวัน ปรากกว่ามีนักท่องเที่ยวนำขวดน้ำไปซุกไว้ตามกอไผ่เต็มไปหมด ทำให้ความงามลดลง เป็นต้น
ดังนั้น การจะทำให้เชียงรายเป็นเมืองศิลปิน จึงต้องให้คนพื้นที่เสพศิลปะอย่างเห็นคุณค่าด้วย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นศิลปะที่มีคุณค่าสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม และต้องมีการจัดเวทีเกี่ยวกับศิลปะเช่นนี้ให้บ่อยครั้งขึ้น
ด้านอาจารย์เฉลิมชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการพูดคุยหารือกับศิลปินในเชียงรายหมดแล้ว และก็มีการรวมกลุ่มกันกว่า 300 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศ และเรามีแผนจะพัฒนาให้เชียงรายเป็นเมืองศิลปะ ตามแผน 10 ปี เพื่อสร้างเมืองดึงนักท่องเที่ยว เบื้องต้นวางแผนจะจัดมหกรรมศิลปะ หรืออาร์ตเฟสติวัล ปีละครั้งก่อน เพราะปัจจุบันทั่วโลกใช้ศิลปะเป็นจุดขายเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจีน และสิงคโปร์ใช้กันมาก
อย่างไรก็ตาม หลังจากหารือกันแล้ว เมื่อจัดงานครั้งนี้ขึ้นคนในพื้นที่กลับไม่ให้ความสนใจ สังเกตได้จากงานวันนี้เชิญพระภิกษุ และผู้บริหารท้องถิ่นทั่วจังหวัด แต่มีพระภิกษุมาแค่ 9 รูป มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อปท.) มาแค่คนเดียว คนที่มาจาก อปท.ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่ตัวแทน ที่เหลือเป็นศิลปิน
อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า เชียงรายมีศิลปินที่ยิ่งใหญ่อย่างอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ผู้ล่วงลับที่สร้างบ้านดำ ต.นางแล อ.เมือง และมีพระอาจารย์วุฒิชัย ที่สร้างไร่เชิญตะวัน รวมทั้งตนที่ยังมีชีวิตอยู่ และสร้างศิลปะที่วัดร่องขุ่น ทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันมหาศาล แสดงให้เห็นว่า ศิลปะ สามารถใช้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ทั้งยังมีศิลปินที่ร่วมกันกว่า 300 คน
และสิ่งที่จะต้องทำคือ ให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของศิลปะ โดยวัดต่างๆ ควรได้รับความรู้ เช่น รักษาสิ่งเก่า รื้อ สร้างวัตถุใหม่ในวัด ดูภูมิศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความรู้จากศิลปิน โดยมี อปท.ร่วมมือด้วย จึงจะทำให้ทั้งเชียงรายเป็นเมืองศิลปะ นักท่องเที่ยวไม่ต้องแวะแค่วัดร่องขุ่นของตนเพียงที่เดียว แต่หมุนเวียนไปยังวัดอื่นๆ ทั่วจังหวัดได้ แต่ทั้งพระภิกษุและ อปท.ในพื้นที่กลับไม่สนใจจึงรู้สึกเสียใจมาก
“กระทรวงวัฒนธรรมกำหนดให้ 3 จังหวัดพัฒนาเป็นเมืองศิลปิน คือ เชียงราย นครราชสีมา และกระบี่ แต่ผมเห็นว่าเราแพ้ 2 จังหวัดนั้นแน่ เพราะเขาตื่นตัวกว่ามาก ผู้ว่าราชการ จ.กระบี่พานายก อปท. ภาครัฐ และเอกชนเดินทางมาศึกษาดูงานที่เชียงราย ส่วนที่โคราชเขาก็เอากันจริงทุกภาคส่วน แต่ของเราเชิญมากลับมีแค่นี้ ทำให้ผมท้อใจ และเสียใจ คิดไปว่าถ้าศิลปินเชียงรายเราแยกย้ายกันไปทำงานของตัวเองขายศิลปะจนร่ำรวยโดยไม่ต้องคิดถึงส่วนรวมก็คงจะอยู่ได้อยู่แล้ว”
อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ตนขอประกาศอย่างเป็นทางการกับบรรดาศิลปินทั้งหมดว่า เราจะไม่ทำงานกับคนที่เขาไม่ร่วมมือกับเรา ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง เราจะพากันยกขบวนไปช่วยสร้างเมืองศิลปินที่นครราชสีมากับกระบี่แทน เพราะเขาเห็นถึงคุณค่า แม้ว่าบางจังหวัดจะขาดศิลปินถึงขั้นต้องไปขอคนจังหวัดอื่นไปอยู่แทน แต่เชียงรายเรามีมากจนล้นกลับขาดการสนับสนุน เราก็ไปทำงานในพื้นที่ที่เขาเห็นถึงคุณค่าดีกว่า นอกจากนี้ทั้ง 2 จังหวัดก็ถือเป็นประเทศไทยเรา ถือว่าได้ทำงานเพื่อประเทศเราเหมือนเดิมด้วย
อย่างไรก็ตาม อาจารย์เฉลิมชัยระบุว่า หากพระภิกษุ หรือ อปท.ในเชียงรายประสงค์จะได้ความรู้ความเข้าใจด้านศิลปะเพื่อจะนำไปพัฒนาเมืองเชียงรายเป็นเมืองศิลปะอย่างแท้จริงก็สามารถไปพบตนที่วัดร่องขุ่นได้ โดยรับได้มากกว่า 50 รูป และตนก็จะได้ถือโอกาสทำบุญถวายเพลไปด้วย และผลดีก็จะเกิดแก่ทั้งจังหวัดเพราะจะทำให้เมืองเชียงรายงดงามด้วยศิลปะ โดยเฉพาะตามวัดวาต่างๆ ที่จะเป็นต้นแบบไปสู่ภาคประชาชนต่อไป