xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าอุดรฯ ถกแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมสะดุด ยกปมเหตุ ร.ฟ.ท.ไม่ชัดเจนเตรียมนำเข้าที่ประชุม กรอ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวทีหารือโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี
อุดรธานี - ประธานหอการค้าอุดรธานีรุดหาทางออกแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีสะดุด เผยปมปัญหาจากการรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนในการสร้างทางรถไฟเชื่อมเข้าถึงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ชี้กระทบต่อแผนการตลาดและการพัฒนาโครงการอื่นต่อเนื่อง เตรียมชงเรื่องแก้ปัญหาเข้าที่ประชุม กรอ.
นายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี
วันนี้ (18 ก.ย. 60) ที่สำนักงาน บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ถ.ทหาร อ.เมือง จ.อุดรธานี นายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี, นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย กรรมการสภาหอการค้าไทย, นายวิวัฒน์ พิพัฒน์ไชยศิริ กรรมการหอการค้า จ.อุดรธานี พร้อมด้วยคณะนักธุรกิจ ได้เข้าพบนายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานบริหาร บจก.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี ผู้รับสิทธิโครงการ “นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี” เพื่อให้กำลังใจ หลังประกาศยุติโครงการ และสอบถามข้อเท็จจริง ตามที่มีข่าวตามสื่อต่างๆ

นายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า การมาพบให้กำลังใจ นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล วันนี้เนื่องจากอยู่ในสภาวะอึดอัด เห็นใจที่นายสุวิทย์ได้ทุ่มเงินลงทุนไปกับโครงการนี้มหาศาล เป็นโครงการเพื่อชาวอุดรธานี โดยโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีจะมีบทบาทในทางเศรษฐกิจต่อพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและพื้นที่ใกล้เคียง สามารถสร้างงานให้แก่ผู้ประกอบการทั้ง SMEs, โอทอป, เศรษฐกิจฐานราก รวมถึงผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกด้วย

ถือเป็นโครงการสำคัญของ จ.อุดรธานี ทางคณะกรรมการหอการค้าอุดรธานีต้องการทราบถึงสถานการณ์ความคืบหน้าด้านการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีความคืบหน้า หรือเกิดปัญหาด้านใด ในฐานะภาคเอกชนพื้นที่ จ.อุดรธานี พร้อมจะร่วมขับเคลื่อนให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเดินไปสู่ความสำเร็จ
นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานบริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด
จากการหารือกับผู้บริหารโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี พบปัญหาคือการสร้างรางรถไฟเชื่อมระหว่างสถานีกรณีการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมศูนย์กระจายสินค้าทางราง จากสถานีรถไฟหนองตะไก้ถึงทางเข้านิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไรให้เป็นรูปธรรม ซึ่งหากการรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่ชัดเจนก็จะกระทบต่อแผนการตลาดของนิคมอุตสาหกรรม ต่อการเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเช่นกัน

หากการรถไฟแห่งประเทศไทยชัดเจนต่อการพัฒนาสร้างรางรถไฟเชื่อม รวมถึงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าทางรางให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นศูนย์บริการศุลกากร มีการสร้างโกดังสินค้า และธุรกิจชิปปิ้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีแล้ว เชื่อมั่นว่าจะทำให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญจะมีสินค้ามาใช้บริการขนส่งสินค้า ทั้งน้ำตาลทราย, ยางแท่ง และสินค้าเกษตรแปรรูปอื่น จะหันมาใช้บริการขนส่งทางรางเพื่อส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ

ทั้งนี้ หลังได้รับข้อมูลแล้วทางหอการค้าอุดรธานีจะนำประเด็นปัญหากลับไปหารือกันในคณะกรรมการบริหารหอการค้า และจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กรอ.เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น