xs
xsm
sm
md
lg

ผิดตรงไหน เจ้าอาวาสวัดดังเชียงใหม่แจงภาพพระนั่งสักยันต์หญิงสาวชิดใกล้ เหมือนทำให้ชายเพราะเป็น “สาวประเภทสอง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เจ้าอาวาสวัดดังเชียงใหม่แจงกรณีโซเชียลแชร์ว่อนวิจารณ์ยับภาพนั่งสักยันต์ให้หญิงสาวอย่างใกล้ชิดแนบแน่นถึงเนื้อถึงตัว ระบุแท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงสาวประเภทสองเท่านั้นซึ่งยังถือว่าเป็นผู้ชาย และยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่เคยสักยันต์ให้ผู้หญิงแม้แต่รายเดียว



จากกรณีที่โซเชียลมีเดียโดยเพจเฟซบุ๊กชื่อ “สำนักข่าวเจริญพวง” ได้โพสต์ภาพ และระบุข้อความว่า “สุดยอดไปเลยโยม งานเนียน ฝีมือดี ญาติโยมท่านใดสนใจก็จัดไป อิอิ เจริญงานศิลป์ @หลวงจอห์น” ซึ่งเป็นภาพที่พระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งกำลังทำการสักยันต์ 9 แถวให้หญิงสาวรายหนึ่งที่แต่งกายนุ่งกางเกงขาสั้น และเปิดแผ่นหลังให้ทำการสักยันต์
 
ซึ่งปรากฏว่าได้มีการแชร์โพสต์ดังกล่าวออกไปเป็นวงกว้างและก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบอย่างมาก โดยเฉพาะในประเด็นการประพฤติไม่เหมาะสมอย่างยิ่งของพระสงฆ์ โดยมีการระบุด้วยว่าพระสงฆ์ที่สักยันต์ดังกล่าวนั้นคือ พระใบฎีกาเทียนชัย สุภัทโท เจ้าอาวาสวัดแม่ตะไคร้ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

วันนี้ (14 ก.ย. 60) ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่วัดแม่ตะไคร้ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เข้าพบพระใบฎีกาเทียนชัย เจ้าอาวาสวัดแม่ตะไคร้ ซึ่งยอมรับว่าพระสงฆ์ที่ปรากฏในรูปภาพดังกล่าวที่มีการนำไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียนั้นเป็นตัวเองจริง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งผู้ที่มาสักยันต์มากันเป็นคณะและถ่ายรูปไว้
 
อย่างไรก็ตาม พระใบฎีกาเทียนชัยชี้แจงว่าคนที่ตัวเองสักยันต์ให้นั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นสาวประเภทสองที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ไม่ได้เป็นผู้หญิง หรือหญิงสาวอย่างที่เข้าใจกันแต่อย่างใด ดังนั้นการสักยันต์ให้ก็เหมือนกับการสักยันต์ให้ผู้ชายทั่วไปตามปกติ และยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่เคยสักยันต์ให้ผู้หญิงหรือสีกาเลย
 
“หากจะเป็นการสักยันต์ให้ผู้หญิงจริงๆ ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นต้องปาราชิกแต่อย่างใด เพราะเป็นการทำให้แก่ผู้ที่มีจิตศรัทธา ที่ไม่ได้มีเรื่องของกามารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง”

เจ้าอาวาสวัดแม่ตะไคร้บอกด้วยว่า ที่ผ่านมามีผู้ที่ศรัทธาและเชื่อในความขลังของการสักยันต์ 9 แถว เดินทางมาที่วัดเพื่อให้ทำการสักยันต์ให้อยู่เป็นประจำ รวมทั้งมีสาวประเภทสองหลายรายแล้วที่เคยมาสักยันต์ดังกล่าว โดยการสักยันต์ไม่มีการเรียกเก็บเงิน แต่ทางด้านผู้ที่มาสักยันต์จะบริจาคเงินให้ตามกำลังศรัทธา ซึ่งเงินทั้งหมดนำไปใช้ในกิจการของวัดทั้งสิ้น
 
สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นและมีการนำภาพไปโพสต์เผยแพร่อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย รวมทั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักนั้น ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนหรือมีความวิตกกังวลแต่อย่างใดทั้งสิ้น และพร้อมที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงและให้ข้อมูลทุกอย่างกับทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่อย่างเต็มที่ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ และยืนยันว่าไม่ได้ทำความผิด













กำลังโหลดความคิดเห็น