ร้อยเอ็ด - โรงพยาบาลร้อยเอ็ดจัดงานรำลึกถึงคนดี “หมอพีร์ คำทอน” จากเหตุการณ์ถูกลอบสังหาร ฆ่าตัดตอนสางทุจริตซื้อยาและวัสดุทางการแพทย์เมื่อ 32 ปีก่อน โดยไม่สามารถจับคนผิดมาลงโทษได้ มุ่งหวังให้บุคลากรรุ่นหลัง ยึดเป็นแบบอย่างทำงาน ซื่อสัตย์ เสียสละ ทำเพื่อส่วนรวมและประชาชน
วันนี้ (11 ก.ย. 60) ณ ห้องประชุมสาเกต ชั้น7 อาคารเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานจัดงาน วันรำลึก “หมอพีร์ คำทอน” วันที่ 11 กันยายน 2560 โดยการดำเนินงานของนายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด นายแพทย์เกรียงไกร โกวิทางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ดและคณะ เพื่อรำลึกอดีตวีรกรรมของหมอพีร์ คำทอน เป็นสิ่งเตือนใจถึงคุณงามความดี ตามรอยแบบอย่างที่ดีในการทำงานเป็นข้าราชการไทยที่ดี เสริมสร้างแรงจูงใจข้าราชการให้มีขวัญ กำลังใจปฏิบัติงาน ตามแบบของคนทำงานสุจริต ใส่ใจประชาชน มีคุณภาพควบคู่คุณธรรม ต่อต้านการทุจริต คอรัปชั่นในหน่วยงาน
ภายในงานได้มอบโล่เกียรติคุณ “คนดีหมอพีร์ คำทอน” ให้แก่ผู้ที่ควรได้รับการยกย่อง กลุ่มแพทย์คือนายแพทย์เกรียงไกร โกวิทางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด, กลุ่มข้าราชการคือ น.ส.อุบล โยวาทิตย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ และกลุ่มลูกจ้างคือนายชำนาญ สุขสงคราม ผู้ช่วยทั่วไป
ขณะเดียวกัน ได้จัดเสวนาเรื่อง “ร่วมสืบสานปณิธาณหมอพีร์คำทอน” โดยอดีตผู้อานวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด นพ.สมชัย นิจพานิช, นพ.วีระพันธ์ สุพรรณชัยมาตย์, นพ.ณรงค์ อึ้งตระกูล มาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ในหัวข้อเสวนาดังกล่าว และยังมีพิธีกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ “เพื่อเป็นข้าราชการที่ดี” โดยตัวแทน 12 องค์กรวิชาชีพโรงพยาบาลร้อยเอ็ด
นายแพทย์เกรียงไกร โกวิทางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด กล่าวว่า วันที่ 11 กันยายนของทุกปี วันรำลึกคนดีหมอพีร์ คำทอน เพื่อสดุดีและเชิดชู วีรกรรมของนายแพทย์พีร์ คำทอน อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ซึ่งดำรงตำแหน่ง 2 พฤศจิกายน 2527 และถูกลอบสังหารด้วยอาวุธสงคราม เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2528 ทั้งนี้โรงพยาบาลร้อยเอ็ดได้จัดงานรำลึกถึง “หมอพีร์ คำทอน” ต่อเนื่องกันมาทุกปีเป็นปีที่ 32 ให้บุคลากรในองค์กร ตามรอยคุณงามความดี ยึดหมอพีร์ คำทอน เป็นแบบอย่าง
สืบเนื่องมาจากหมอพีร์ถูกส่งเข้ามาดำรงตำแหน่งเพี่อสะสางความผิดปกติ และแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ตรวจสอบงบประมาณการจัดซื้อวัสดุทางการแพทย์ และยาของโรงพยาบาลร้อยเอ็ดในสมัยนั้น จนนำไปสู่การลอบสังหารบนถนนรอยต่อระหว่าง จ.ร้อยเอ็ด และ จ.มหาสารคาม เหตุการณ์ลอบสังหารครั้งนี้ไม่สามารถจับคนร้ายคนสั่งการได้ เนื่องจากพยานหลักฐานไม่สามารถเชื่อมโยงถึงมือปืนที่เป็นคนมีสีได้