xs
xsm
sm
md
lg

แผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรส่อล่ม อ้าง ร.ฟ.ท.ไม่สร้างทางเชื่อมกับคอนเทนเนอร์ยาร์ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานบริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัดบริษัทเอกชนที่เข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี
อุดรธานี - นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีส่อล่ม! หลังเจ้าของโครงการอึดอัดท่าทีการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ชัดเจน แค่เริ่มต้นเรื่องสร้างทางรถไฟ 1.8 กิโลเมตรเชื่อมเข้ามายังศูนย์กระจายสินค้าทางราง ย้ำเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าพื้นที่ ขณะที่หลายหน่วยงานรัฐมีท่าทีชัดเจนทั้ง กฟภ., กปภ., ทางหลวงชนบท และภาคเอกชนในพื้นที่

ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ณ ห้องประชุมศาลากลาง จ.อุดรธานี เมื่อวานนี้ (5 ก.ย. 60) ซึ่งได้หารือถึงโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีที่ดำเนินงานระหว่างภาคเอกชนกับ กนอ. และทวงถามถึงการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างสถานีหนองตาไก้ กับพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้าทางรางที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยนายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงในที่ประชุมว่ายังไม่มีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าทางราง อีกทั้งที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องเวนคืนอีกด้วย

นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานบริหาร บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัดบริษัทเอกชนที่เข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าตนจะสั่งให้หยุดโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีท่าทีไม่ชัดเจนกรณีการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมศูนย์กระจายสินค้าทางราง จากสถานีรถไฟหนองตะไก้ถึงทางเข้านิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้คุยกับการรถไฟฯ หลายครั้ง ทั้งในพื้นที่ก่อสร้าง และหารือผู้บริหารที่ส่วนกลาง เรื่องการตั้งศูนย์กระจายสินค้าทางรางในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ใช้พื้นที่ 400 ไร่ เริ่มต้น 93 ไร่ เงินลงทุน 193 ล้านบาท โดยเมื่อสร้างเสร็จจะให้บริการทั้งสินค้าจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี และสินค้านอกเขตนิคมฯ และโรงงานเขตอีสานตอนบน

ที่สำคัญจะต้องสร้างทางรถไฟเชื่อมรางจากสถานีรถไฟหนองตะไก้ ต.หนองไผ่ อ.เมืองอุดรธานี มาถึงทางเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รวมระยะทาง 1.8 กิโลเมตร วงเงิน 43 ล้านบาท ที่ผ่านมาการรถไฟฯ จะเป็นผู้ดำเนินการให้ และขอใช้พื้นที่สร้างถนนคู่ขนานราง 1 กิโลเมตร เบื้องต้นเหมือนจะไปด้วยดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับไม่ชัดเจน ทั้งที่รัฐมนตรีหลายคนที่มาติดตามก็เห็นดีเห็นชอบโครงการนี้ เมื่อติดตามเรื่องระยะหลังก็ไม่ได้

ขณะที่หลายหน่วยงานตอบรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เช่น กฟภ.กำลังสร้างสถานีย่อยในนิคมฯ 100 เมกะวัตต์, กปภ.เตรียมวางท่อเมนประปามาเชื่อมกับพื้นที่นิคมฯ, ทางหลวงชนบทจะสร้างถนนเชื่อมมิตรภาพกับถนนนิตโย และสร้างถนนคู่ขนานทางรถไฟ, ทางหลวงออกแบบทางแยกถนนมิตรภาพเข้ามายังนิคมฯ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่มีคำตอบ ทั้งรองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่มีข้อมูลรายละเอียด ทั้งย้ำว่าที่ดินของการรถไฟฯ ต้องเวนคืนด้วย

ศูนย์กระจายสินค้าทางราง เป็นจุดขายของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ซึ่งหากมีศูนย์กระจายสินค้าจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าขนส่งให้ผู้ลงทุนมีต้นทุนขนส่งต่ำลง หากเกิดขึ้นได้จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกที่มีศูนย์กระจายสินค้าทางราง และเป็นจุดขายที่จะนำไปใช้เชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี

“ต้องขอโทษชาวอุดรธานีที่ไม่เดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรม และขอบคุณหน่วยงานราชการหลายหน่วย และภาคเอกชน จ.อุดรธานี ที่สนับสนุนมาโดยตลอด เมื่อจำเป็นตัดสินใจต้องหยุดโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี หลังจากรับฟังการชี้แจงของ กมธ.คมนาคมสุดจะทน เพราะเราได้ทำกันสุดความสามารถแล้ว” นายสุวิทย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น