xs
xsm
sm
md
lg

ระดมทุนสร้างระบบบำบัดน้ำเสียพัทยาใต้ชะงัก! ผู้ประกอบการหวั่นเสียเงินแล้วโดนรื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ระดมทุนก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียใต้อาคารผู้ประกอบการ 101 รายพัทยาใต้กว่า 31 ล้าน มีอันชะงัก หลังผู้ประกอบการหวั่นเสียงบแต่สุดท้ายถูกรื้อตาม มติ ครม. ร้องเมืองพัทยาเร่งทวงถามความชัดเจนภาครัฐด้านนโยบาย ก่อนหาข้อสรุปใหม่ใน 1 สัปดาห์

วันนี้ (6 ก.ย.) ที่ห้องประชุมโรงเรียนเมืองพัทยา 8 (พัทยานุกูล) จ.ชลบุรี เมืองพัทยา โดย นายวิรัตน์ จิระศรีไพรฑูรย์ ผู้อำนวยการสำนักการช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา นำตัวแทนจาก บ.เอ็นริช อินสตรูเม้นท์ จำกัด เข้าร่วมชี้แจง หารือ พร้อมรับฟังผลสรุปจากกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า 101 รายพัทยาใต้ หรือวอล์กกิ้งสตรีทพัทยาใต้ เกี่ยวกับการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียรวมของกลุ่มผู้ประกอบการในบริเวณดังกล่าว ด้วยการระดมทุน จำนวนกว่า 31 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการ หลังจากที่เคยชี้แจง และนำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ ด้วยหวังให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูลลงสู่ทะเลอย่างเป็นรูปธรรม หลังเมืองพัทยาได้รับนโยบายจากกระทรวงมหาดไทย ให้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

เนื่องด้วยเมืองพัทยา ได้รับผลกระทบด้านภาพลักษณ์ และการท่องเที่ยวจากการจัดการระบบบำบัดเสีย จนเป็นกระแสสังคมถึงประสิทธิภาพในการทำงานของระบบซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก โดยมีกระแสส่วนหนึ่งที่ระบุว่า ต้นตอมาจากกลุ่มผู้ประกอบการอาคาร 101 รายบางส่วน

นายวิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ของกลุ่มผู้ประกอบการ 101 รายพัทยาใต้ ถือเป็นแหล่งเศรษฐกิจท่องเที่ยวที่สำคัญที่อยู่คู่กับเมืองพัทยามาเป็นเวลานาน แต่ที่ผ่านมา หลังการศึกษาแผนฟื้นฟูบูรณะก็มีแผนให้ทำการรื้อถอนอาคารทั้ง 101 รายออก โดยระบุว่า เป็นต้นเหตุของปัญหามลพิษทางทะเล กระทั่งมีมติ ครม.ให้ทำการรื้อถอน แต่ด้วยความที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจจนถึงปัจจุบันจึงไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการไปในรูปแบบใด

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ และการมีส่วนร่วมต่อสังคม ฝ่ายบริหารจึงมีนโยบายให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำระบบบำบัดขึ้นเอง เพื่อลดภาระของระบบรวม และมีส่วนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากพื้นที่ 101 ราย ถือเป็นพื้นที่ที่ยังมี มติ ครม.ค้างอยู่ ดังนั้น การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐลงไปดำเนินการจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้

แต่ด้วยเห็นความสำคัญจึงมีแนวคิดที่จะให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการ โดยเมืองพัทยาได้ทำการสรรหาภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญในการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียมาเสนอแผนและโครงการด้วยงบประมาณลงทุนกว่า 31 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ทางผู้ประกอบการจะเป็นผู้รับผิดชอบในการหารเฉลี่ยค่าใช้จ่ายกันเองตามพื้นที่ของแต่ละอาคาร ซึ่งมีการชี้แจงไปแล้ว และได้มีการนัดประชุมร่วมอีกครั้งเพื่อขอรับทราบมติว่าจะจัดทำหรือไม่

ด้าน นายสุชัย รวยริน อดีตนายกเมืองพัทยา ระบุว่า การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และมลพิษต่างๆ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายพร้อมให้การสนับสนุน และร่วมมืออย่างเต็มที่ รวมไปถึงการดำเนินการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องออกค่าใช้จ่ายกันเอง อย่างไรก็ตาม หลังมีมติ ครม.ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จะยังไม่มีการดำเนินการที่ชัดเจน แต่ก็ไม่ทราบได้ว่าภาครัฐจะมีแผน และแนวทางการบริหารจัดการอย่างไร ดังนั้น หากผู้ประกอบการเห็นชอบต่อโครงการจัดทำระบบบำบัดและสนับสนุนงบประมาณโครงการ จำนวน 31 ล้านบาท สุดท้ายเมืองพัทยาก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า ผู้ประกอบการพัทยาใต้จะถูกรื้อถอนออกไปหรือไม่

ดังนั้น ในส่วนของเมืองพัทยาเองคงจะต้องแสดงเจตนาที่ชัดเจนโดยการทำหนังสือ หรือเข้าพบหารือกับส่วนกลาง ทั้งในส่วนของมหาดไทย หรือนายกรัฐมนตรี เพื่อรับฟังนโยบายที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งนี้ ซึ่งหากภาครัฐเห็นชอบให้คงอยู่ต่อไป และมีนโยบายพัฒนา เช่น การทำสันเขื่อนป้องกันแนวการรุกล้ำเพิ่มเติม หรือการปรับทัศนียภาพเพื่อสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ ทางผู้ประกอบการเองก็คงไม่ได้ติดขัดในการออกค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด

ขณะที่ปัญหาน้ำเสีย และมลพิษทางทะเลที่เกิดขึ้นนั้น คงจะมาโทษผู้ประกอบการแต่เพียงลำพังไม่ได้ ปัญหาหลักน่าจะมาจากระบบบำบัดน้ำเสียที่เก่า ชำรุด และใช้งานมาเป็นเวลานานทำให้มีปริมาณน้ำเสียไหลลงสู่ทะเลจนเป็นข่าว และกระแสในโลกโซเชียล ดังนั้น จะเอานโยบายมาอ้างและเร่งรัดให้ผู้ประกอบการมีผลสรุปด้วยการออกค่าใช้จ่ายคงไม่ถูกต้อง เพราะจริงๆ คงต้องหาความชัดเจนก่อนว่ามีแผนการพัฒนา และบริหารจัดการอย่างไรต่อพื้นที่ 101 รายพัทยาใต้แห่งนี้

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดจากการประชุมครั้งนี้พบว่า มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายทรรศนะจนสุดท้ายยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปถึงแนวทางการดำเนินการดังกล่าวได้ โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า หากลงทุนงบประมาณดังกล่าวไป แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร จึงได้นัดหมายกันมาประชุมหารือถึงเรื่องดังกล่าวเพื่อหาบทสรุปอีกครั้งในวันอังคารที่ 12 กันยายน 2560 ที่จะถึงนี้ต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น