สุโขทัย - ตะลุยเที่ยวศรีนคร..ท้าชม-ชิม-ชอปของดี “ตลาดเก่าร้อยปี-สถานีรถไฟโบราณ-สวนมะม่วงร้อยล้าน” พร้อมนั่งอีแต๋นชมสวนสุดลูกหูลูกตา
รายงานข่าวแจ้งว่า หนึ่งในทริป อบจ.ชวนเที่ยวโข’ทัย ที่มีนำคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยว และภาคีเกี่ยวข้องเข้าเยี่ยมชมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมะม่วงบ้านคลองต่าง หมู่ 1 ต.น้ำขุม อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ได้ชื่อว่า เป็นทริปการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ชุมชนร่วมกันพัฒนาต่อยอดได้อย่างน่าสนใจ
โดยเริ่มต้นที่การชมตลาดเก่าศรีนคร มีสภาพเป็นอาคารไม้โบราณและตึกตลาดเก่าให้บรรยากาศย้อนยุค ต่อด้วยการเข้าชมสถานีรถไฟคลองมะพลับ ซึ่งเป็นอาคารไม้โบราณสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 คงสภาพสวยงาม และยังคงใช้งานจนถึงปัจจุบัน จากนั้นได้นั่งรถอีแต๋นหน้าหมู่บ้านคลองต่าง หมู่ 1 ต.น้ำขุม ไปตามเส้นทางหมู่บ้านเข้าไปยังสวนมะม่วง จนมาถึงศาลาชมวิวกลางสวน ขึ้นไปนั่งข้างบนก็สามารถมองเห็นวิวสวนมะม่วงขนาดใหญ่ ไกลสุดลูกหูลูกตา
นายสายชล จันทร์วิไล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.น้ำขุม เล่าความเป็นมาให้ฟังว่า เดิมเกษตรกรที่นี่มีอาชีพทำไร่ ทำนา แต่ประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ ต่อมาในปี 2540 นายแจ่ม พุ่มทับทิม ชาวบ้านในพื้นที่ที่เห็นต้นมะม่วงหน้าบ้านต้นเดียวให้ผลผลิตทุกปี จึงได้ทดลองนำมะม่วงโชคอนันต์มาปลูก 9 ไร่ ให้ผลผลิตดีปีแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้วก็ได้เงินแสนเข้าบ้าน ซึ่งถือว่าเยอะมาก
ต่อมาเกษตรกรในพื้นที่จึงพากันปลูกตาม จาก 2,000 ไร่เมื่อร่วม 20 ปีที่แล้ว จนปัจจุบันทั้ง อ.ศรีนคร มีพื้นที่ปลูกมะม่วงโชคอนันต์รวมแล้ว 8,000 ไร่ และถ้ารวมทั้งจังหวัดสุโขทัย และข้างเคียงจะมีพื้นที่ปลูกมากถึง 12,000 กว่าไร่ ซึ่งเกษตรกรได้มีการรวมกลุ่มกันรวบรวมผลผลิตส่งขาย และแปรรูปเพื่อส่งออกต่างประเทศ
สำหรับผลผลิตมะม่วงโชคอนันต์จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ขายลูกมะม่วงอ่อน หรือเรียกว่า มะม่วงยำ ขายในประเทศ และเพื่อนบ้านข้างเคียง พม่า ลาว เขมร ประมาณ 60%, มะม่วงผลแก่ จะมีขายอยู่ราว 20% ส่วนที่เหลือจะเป็นมะม่วงอุตสาหกรรม ส่งโรงงานแปรรูปเป็นมะม่วงอบแห้ง มะม่วงกระป๋อง มะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม และข้าวเกรียบมะม่วง
“ปีที่ผ่านมาผลผลิตมะม่วงนำรายได้เข้าจังหวัดสุโขทัยเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท และมีลูกค้าต่างประเทศให้ความสนใจมะม่วงออร์แกนิก ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ที่น่าสนใจมาก ล่าสุดก็มีโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ของรัฐบาลเข้ามา ทางกลุ่มก็ได้มีแนวทางที่จะยกระดับคุณภาพผลผลิต ทั้งปรับลดต้นทุนโดยร่วมกันผลิตปุ๋ยหมักเพื่อจะปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ในอนาคตด้วย”
นอกจากนี้ เกษตรกรชาวสวนมะม่วงศรีนครยังมีการต่อยอดในเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละปีจะมีเกษตรกรที่สนใจเดินทางมาท่องเที่ยว-ศึกษาแนวทางไม่น้อยกว่า 5-6 พันคนเลยทีเดียว