xs
xsm
sm
md
lg

เมืองพัทยาหาผู้รับจ้างทำระบบบำบัดน้ำเสียอาคารรุกล้ำ 101 ราย ให้ผู้ประกอบการจ่ายเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ตั้งงบ 31 ล้าน เมืองพัทยาสรรหาผู้รับจ้างทำระบบบำบัดน้ำเสียอาคารรุกล้ำ 101 ราย เผยต้องเฉลี่ยค่าใช้จ่ายทำระบบ หวังเป็นพื้นที่ตัวอย่างแก้ปัญหามลพิษทางทะเลนำร่อง หลังถูกระบุเป็นต้นตอปัญหามายาวนาน

จากกรณีที่ พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา ซึ่งออกมาระบุในการประชุมร่วมผู้ประกอบการ 101 ราย พัทยาใต้ ว่า มีปัญหาเรื่องของการปลูกสร้างสิ่งรุกล้ำทะเลอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งในปี 2541 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ทำการรื้อถอน แต่ถึงปัจจุบันก็ยังพบว่าไม่มีการดำเนินการใดๆที่ชัดเจน

ขณะที่ข้อมูลการตรวจสอบปัญหาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบุว่า จากอาคาร จำนวน 101 ราย มีเพียง 23 ราย ที่จัดทำระบบป้องกันน้ำเสีย ดักไขมัน และสิ่งปฏิกูลก่อนส่งต่อเข้าสู่ระบบของเมืองพัทยา ส่วนที่เหลือยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการ และล่าสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้เมืองพัทยา แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน พร้อมระบุว่า “ใครเป็นผู้ทำ คนนั้นต้องดูแล”

นายอภิชาต วีระปาล รองนายกเมืองพัทยา ได้ออกระบุว่า จากการตรวจสอบสถิติการใช้น้ำพบว่าพื้นที่ 101 ราย มีการใช้น้ำจาก 2 แหล่ง คือ น้ำประปา และน้ำบาดาล ทำให้เกิดปริมาณน้ำเสียสูงถึงกว่า 24,000 ลบ.ม.ต่อเดือน หรือ 1,000 ลบ.ม.ต่อวัน ถือว่ามีปริมาณมาก ขณะที่โรงบำบัดน้ำเสียหลักของเมืองพัทยา มีปัญหาเรื่องขีดจำกัดในการรองรับน้ำเสีย จึงเสนอให้มีการจัดทำระบบบำบัดส่วนแยกออกจากระบบรวม โดยอาศัยความร่วมมือของผู้ประกอบการในการออกค่าใช้จ่าย เนื่องจากกลุ่มอาคารเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น

ล่าสุด วันนี้ (31 ส.ค.) นายสุธรรม เพชรเกตุ รองปลัดเมืองพัทยา ได้เป็นประธานเปิดการประชุมร่วมกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า 101 ราย เพื่อชี้แจงข้อมูล และเสนอแนะแนวทางการจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็น โดยเชิญตัวแทนจาก บ.เอ็นริช อินสตรูเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนเข้าร่วมนำเสนอแผนการจัดสร้างระบบต่อผู้ประกอบการ ที่โรงเรียนเมืองพัทยา 8 พัทยานุกูล เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อชี้แจงทั้งในส่วนการแก้ไขปัญหา รูปแบบ ระยะเวลาในการดำเนินการ และงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง โดยมี นายวิรัตน์ จิระศรีไพฑูรย์ ผู้อำนวยการ สำนักช่างสุขาภิบาล เมืองพัทยา พร้อมเจ้าหน้าที่ และตัวแทนเข้าร่วมท่ามกลางผู้ประกอบการกว่า 20 ราย

นายวิรัตน์ ระบุว่า ระบบบำบัดน้ำเสียหลักของเมืองพัทยา ปัจจุบันสามารถรองรับน้ำเสียได้กว่า 6.5 หมื่น ลบ.ม.ต่อวัน แต่ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นมีมากกว่า 8 หมื่น ลบ.ม.ต่อวัน จึงทำให้มีปัญหาคุณภาพน้ำที่ต่ำลง ขณะที่อาคาร 101 ราย ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการรื้อถอนหรือไม่ จึงมีแนวคิดที่จะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียแยกเฉพาะ เพื่อรับน้ำเสียจากพื้นที่โดยตรง แต่ผู้ประกอบการจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบ เพื่อลบคำครหาด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับระบบดังกล่าว เมืองพัทยาได้เชิญภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาศึกษา สำรวจ วางแผน และออกแบบระบบบำบัดสำหรับพื้นที่แห่งนี้โดยเฉพาะ เบื้องต้น กำหนดใช้พื้นที่ในการสร้างสถานีบริเวณชายหาดพัทยา ติดกับสระว่ายน้ำของโรงแรมสยามเบย์ชอว์ ที่จะต่อเชื่อมระบบท่อจากอาคารทุกหลังมาทำการบำบัด ก่อนนำน้ำที่ผ่านมาตรฐานไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งจากการนำเสนอพบว่า มีการประมาณการค่าใช้จ่ายกว่า 31.5 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้เมืองพัทยา จะทำการรังวัดพื้นที่ของอาคารแต่ละราย ก่อนจะมีหารค่าเฉลี่ยตามขนาดพื้นที่เพื่อระบุว่าแต่ละรายจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการลงงบประมาณเพื่อก่อสร้างอย่างไรต่อไป

ขณะที่ นายอุทรณ์ ศาสตรา วิศวกรออกแบบระบบโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแหลมบาลีฮาย บ.เอ็นริช อินสตรูเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า ระบบดังกล่าวเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่ได้รับสิทธิบัตรรับรองจากหลายองค์กรทั้งใน และต่างประเทศ จึงมีความเหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่นี้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเรียกว่าระบบ Bi-Act และ SDO หรือเทคโนโลยีตกตะกอนและแผ่นฟิล์มกรอง โดยไม่ต้องใช้อาหารเลี้ยง หรือเติมจุลินทรีย์ พร้อมระบบเติมอากาศแรงต่ำ ถือเป็นระบบที่ประหยัดพลังงาน ใช้พื้นที่น้อย ค่าใช้จ่ายต่ำ โดยเฉพาะค่าพลังงานไฟฟ้า และไม่มีต้องมีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลเป็นจำนวนมาก

สำหรับพื้นที่ของอาคาร 101 รายนั้นจะมีความยาวตลอดแนวในระยะ 700 เมตร หากมีการทำสัญญาว่าจ้างเพื่อดำเนินการก็จะมีการก่อสร้างสถานีบำบัดซึ่งต้องแยกออกเป็นอาคาร โครงสร้าง และระบบไฟฟ้าที่ต้องทำการขยายเขต รวมทั้งการเดินต่อม่อเข้ากับระบบบ่อเกรอะเดิมในระดับสูงกว่าพื้นหาดทรายเพื่อรวบรวมน้ำเสียจากนั้นจะส่งต่อเข้าสู่ระบบหลักเพื่อทำการบำบัดตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างโครงการประมาณ 180 วัน

ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ระบุว่า เห็นชอบด้วยต่อแผนดำเนินการดังกล่าว เพียงแต่มีข้อกังวลว่าที่ผ่านมา พื้นที่แห่งนี้มีมติ ครม.ให้ดำเนินการรื้อถอนไปแล้วตั้งแต่ปี 2541 แต่หลังจากที่ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือในการลงงบประมาณเพื่อก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียขึ้นเอง สุดท้ายพื้นที่แห่งนี้จะมีการสั่งรื้อถอนออกไปอีกหรือไม่ จึงควรหาหลักประกันเพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น