ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ฤดู “ด้วงกว่าง” เริ่มแล้ว ชาวบ้านตระเวนหานำมาวางขายสร้างรายได้เสริมช่วงหน้าฝน ราคาขายเริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อย หวังสืบสานการละเล่นพื้นบ้านในอดีตให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักก่อนสูญหาย ขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงานที่ได้โอกาสย้อนความทรงจำวันวานเมื่อครั้งเป็นเด็ก
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ขณะนี้ที่บริเวณริมถนนรัตนโกสินทร์ ช่วงด้านหลังโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในตัวเมืองเชียงใหม่ เริ่มมีการนำ “ด้วงกว่าง” มาวางขายสร้างรายได้เสริมในช่วงฤดูฝน พร้อมทั้งอนุรักษ์การละเล่นพื้นถิ่นดั้งเดิมของเด็กในสมัยก่อน
โดยพบว่ามีการนำท่อนอ้อยที่มีด้วงกว่างเกาะกินอยู่ ทั้งแขวน และวางให้คนที่ชื่นชอบแมลงชนิดนี้ได้ชมและเลือกซื้อกัน ซึ่งราคาขายมีตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อยบาท ขึ้นอยู่กับลักษณะสี รูปร่าง ขนาดตัว และเขาของด้วงกว่างแต่ละตัว นอกจากนี้ยังมีการตั้งสังเวียนชนกว่าง เพื่อให้เจ้าของด้วงกว่างแต่ละตัวได้นำด้วงกว่างของตัวเองมาประลองฝีมือกันด้วย
ทั้งนี้ นายเกรียงศักดิ์ มะลิวัน อายุ 38 ปี พ่อค้าขายด้วงกว่าง เปิดเผยว่า ตั้งแผงขายด้วงกว่างอยู่ที่ย่านนี้เป็นประจำทุกปีต่อเนื่องมาประมาณ 20 ปีแล้ว โดยเมื่อถึงช่วงปลายฝนต้นหนาวของทุกปีที่เป็นฤดูที่ด้วงกว่างจะเจริญเติบโตเต็มไวและโผล่ออกมาจากดินเพื่อออกมาผสมพันธุ์กับตัวเมีย ตนและภรรยาจะออกหาด้วงกว่างตามพื้นที่ต่างๆ มาวางขายสร้างรายได้เสริม
ซึ่งช่วงนี้ยังเป็นช่วงต้นฤดูที่ด้วงกว่างกำลังเพิ่งเริ่มโผล่ออกมาจากดิน แต่ด้วงกว่างที่เริ่มนำมาขายในช่วงนี้ต้องไปหามาจากพื้นที่จังหวัดเชียงราย ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่อื่นๆ จะทยอยตามออกมามากในช่วงเดือน ก.ย. อย่างไรก็ตาม ปีนี้คาดว่าด้วงกว่างน่าจะมีจำนวนน้อยกว่าทุกปี โดยเฉพาะตัวเมีย เนื่องจากหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วม
ส่วนราคาขายด้วงกว่างนั้น นายเกรียงศักดิ์บอกว่า ราคาขายในเวลานี้เริ่มต้นที่ตัวละประมาณ 50 บาท และแพงสุด 600 บาท ทั้งนี้ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ากลุ่มผู้ชื่นชอบด้วงกว่างและเป็นลูกค้าหน้าเดิมที่รู้จักกันดี อย่างไรก็ตามมีลูกค้าขาจรด้วยอีกจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้ รายได้จากการขายด้วงกว่างในแต่ละวันนั้น ในปีที่ผ่านมาเคยมีรายได้เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท
แต่ปีนี้ถือว่าซบเซาลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจทำให้คนระวังการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ได้กังวลมากนักเพราะนอกจากการนำมาขายเพื่อสร้างรายได้เสริมแล้ว ส่วนตัวมีความตั้งใจเพื่ออนุรักษ์การละเล่นพื้นถิ่นดั้งเดิมให้คงอยู่ด้วย
นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กสมัยใหม่เริ่มไม่ค่อยรู้จักด้วงกว่างแล้วเพราะหันไปเล่นเกมคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือกันหมด ทั้งๆ ที่ในอดีตเด็กๆ ตามต่างจังหวัดจะรู้จักเป็นอย่างดีและเป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่แต่ก่อนได้รับความนิยมมาก พอเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตร ที่จะมีการออกไปหาจับด้วงกว่างตามป่าเล่นต่อสู้กันหรือที่เรียกว่า “ชนกว่าง” เพื่อผ่อนคลายจากช่วงทำงานหนัก ซึ่งโดยส่วนตัวอยากอนุรักษ์การละเล่นชนิดนี้ไว้
ปัจจุบันมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงานขึ้นไป ที่มักจะมาเลือกซื้อนำไปเลี้ยงหรือประลองเพื่อเป็นการระลึกความหลัง สนุกสนาน ผ่อนคลาย และสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมเป็นหลัก
สำหรับ “ด้วงกว่าง” เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งที่ผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งภาคอื่นๆ ให้ความนิยมจับมาเลี้ยงเพื่อชื่นชมความสวยงาม รวมทั้งการนำมาชนกว่างเพื่อประลองฝีมือกัน โดยในจังหวัดเชียงใหม่พบว่าได้รับความนิยมในหลายพื้นที่ และมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ทั้งการประกวดประเภทสวยงาม และการแข่งขันชนกว่าง เช่น ที่อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการจัดงานทุกปีมีผู้คนในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยปีนี้กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23-29 ต.ค. 59
ทั้งนี้ ด้วงกว่างที่เป็นที่นิยมมี 3 ประเภท ได้แก่ กว่างสองเขา กว่างสามเขา และกว่างห้าเขา ซึ่งด้วงกว่างที่นิยมนำมาชนกันจะเป็นด้วงกว่างสองเขา เนื่องจากลักษณะเขาที่มีเพียงแค่สองสามารถงัดกันได้เร็ว และรู้ผลแพ้ชนะง่ายกว่าด้วงกว่างชนิดอื่นๆ