xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.เชียงใหม่เผยยอดป่วยไข้หวัดใหญ่กว่า 4,500 รายแนะมาตรการ“ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ลดการแพร่ระบาด

เผยแพร่:

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ไข้หวัดใหญ่ปี 2560 ระบาดหนัก "เชียงใหม่" ป่วยแล้วเกือบครึ่งหมื่น แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พบมากสุดในพื้นที่สันทราย,อำเภอเมือง และดอยสะเก็ด หลายโรงเรียนสั่งปิดเรียนยกชั้น หลังมีเด็กป่วยเกิน 10%

ร้อยเอกภูรีวรรธน์ โชคเกิด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ว่า จากข้อมูลของงานระบาดวิทยา กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-12 ส.ค.60 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทั้งสิ้น 4,541 ราย อัตราป่วย 283.33 ต่อแสนประชากร ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับได้แก่ คือ อำเภอสันทราย อำเภอเมือง และอำเภอดอยสะเก็ด ตามลำดับ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ปกติจะพบมากในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. และ ส.ค.-ต.ค. ของทุกปี และลดลงในช่วงฤดูร้อน

สำหรับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2560 นั้น มีจำนวน 8 เหตุการณ์ พบในโรงเรียน ค่ายทหาร และชุมชน ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B จำนวน 7 เหตุการณ์ และสายพันธุ์ A H3N2 จำนวน 1 เหตุการณ์ สำหรับสายพันธุ์ A H3N2 ที่ระบาดในฮ่องกงและสายพันธุ์ H1N1 ที่ระบาดแถวชายแดนพม่า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่ในวัคซีนและพบได้ในประเทศไทยเช่นกัน โดยขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียนในเขตเมือง ซึ่งทำให้บางโรงเรียนได้ประกาศปิดห้องเรียนบางห้องหรือบางชั้นเรียน

โดยโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ที่มีการปิดเรียนชั้น ม.1-ม.3 วันที่ 23-25 ส.ค.60 ต่อเนื่องวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ รวมเป็น 5 วัน เนื่องจากพบนักเรียนป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่นั้น การปิดเรียนดังกล่าวเป็นไปตามข้อแนะนำของทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากพบว่ามีจำนวนนักเรียนป่วยมากถึงร้อยละ 10 ของจำนวนนักเรียนในแต่ละชั้น โดยจำนวนนักเรียนที่ป่วยและมีลักษณะอาการเข้าข่ายว่าอาจจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่นั้น มีทั้งสิ้นเกือบร้อยคน ทั้งนี้การปิดเรียนดังกล่าวเพื่อทำความสะอาดและฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ลดความเสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดและทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้เน้นย้ำโรงเรียนในการคัดกรองนักเรียน หากพบมีอาการป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยควรให้นักเรียนกลับบ้าน

ทั้งนี้อาการสำคัญของโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้สูง บางครั้งสูงมาก 38 - 41 องศาเซลเซียส โดยไข้ขึ้นสูงภายใน 1 วัน ปวดศีรษะมาก ปวดกระบอกตาเวลาตาเคลื่อนไหว มีน้ำตาไหลเมื่อมีแสงสว่าง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลียมาก ไอแห้ง ๆ เจ็บคอ คัดจมูก เบื่ออาหาร ทั้งหมดเป็นอาการที่พบได้บ่อย

แต่อาจพบรุนแรงได้ เช่น หายใจเหนื่อย หอบ ไอรุนแรง หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเสีย มึนงง ซึม และ/หรือ หัวใจล้มเหลว ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ
 
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาจมีความรุนแรงเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ เช่น ปอดบวม ผู้ป่วยโรคหืด จะมีอาการรุนแรงขึ้นมาก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ/หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ และ/หรือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดอัมพาต ชัก แขน/ขาอ่อนแรง และโคม่า

ส่วนการติดต่อ สามารถติดต่อได้โดยวิธีเช่นเดียวกับโรคหวัด ติดต่อทางการหายใจ ไอ จามของผู้ป่วย จากเชื้อที่มีอยู่ในละอองอากาศเข้าสู่จมูกจากการหายใจ หรือสัมผัสเยื่อตา หรือ เยื่อเมือกช่องปาก และจากการสัมผัสเชื้อโดยตรง เช่น จากมือสัมผัสเชื้อ แล้วใช้มือเช็ดปาก ขยี้ตา เป็นต้น ซึ่งการแพร่กระจายเชื้อเกิดได้สูงในสัปดาห์แรกของอาการ โรคไข้หวัดใหญ่จะรักษาตามอาการ อาจรักษาโดยยาต้านไวรัสตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง

ขณะเดียวกันนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แนะนำแนวทางการปฏิบัติของประชาชนเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคว่า ต้องใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่
 
1. ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ไม่ควรไอจามใส่มือ ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือไอจามใส่วงแขนของตนเอง และสวมใส่หน้ากากอนามัยปิดปาก จมูก เมื่อเป็นไข้หวัด
 
2. ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ
 
3. เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย การใช้ของส่วนตัวร่วมกัน
 
และ4. หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน นับจากวันเริ่มป่วยหรือหลังจากหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน

นอกจากนี้ยังควรพักผ่อนให้มากๆ กินอาหารที่มีประโยชน์ 5 หมู่ในทุกวัน ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ ฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์เมื่อไข้ขึ้นสูงเกิน 39-40 องศาเซลเซียส หรือไข้ไม่ลดลงหลังได้ยาลดไข้ภายใน 1-2 วัน หรือ เมื่อมีอาการหอบเหนื่อยร่วมกับไอมาก อาจร่วมกับนอนราบไม่ได้ เจ็บหน้าอกหายใจขัด เป็นต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น