xs
xsm
sm
md
lg

ทัพเรือปิดภารกิจดันน้ำท่วมลงโขงแล้ว นาข้าวนครพนมพังยับกว่า 2 แสนไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - กองทัพเรือปิดภารกิจ 14 วันผลักดันน้ำท่วมลงน้ำโขง เผยหากปล่อยให้ไหลตามธรรมชาติกินเวลานานร่วมเดือน ขณะที่ผลสรุปความเสียหายเบื้องต้นจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ทำนาข้าวเสียหายกว่า 2 แสนไร่ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท โดยพื้นที่นาล่มมากสุดคือ อ.นาแก 75,000 ไร่ รองลงมา อ.ศรีสงครามจมน้ำกว่า 50,000 ไร่

วันนี้ (22 ส.ค.) ที่จังหวัดนครพนม พลเรือเอก พลเดช เจริญพูล รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ พร้อมคณะเดินทางมายังกองบัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) นครพนม เพื่อตรวจเยี่ยมหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำจากลำน้ำสงครามลงสู่แม่น้ำโขง ช่วงเกิดอุทกภัยเมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยรับฟังบรรยายสรุปภารกิจผลักดันน้ำและการช่วยเหลือประชาชนจากศูนย์บรรเทาสาธารณภัย นรข.

จากนั้น พลเรือเอก พลเดชได้เดินทางไปยัง อ.ศรีสงคราม เพื่อตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญกำลังพล บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำสงคราม (ศรีสงคราม-บ้านนาเพียง) บ้านปากอูน ต.ศรีสงคราม พร้อมปล่อยขบวนลำเลียงเรือผลักดันน้ำเดินทางกลับสู่ที่ตั้ง หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเร่งผลักดันน้ำ มี นายประทีป ฤทธิกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการ พี่น้องประชาชน มาร่วมในการปล่อยขบวนลำเลียงเรือผลักดันน้ำในครั้งนี้ด้วย

ซึ่งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือได้ดำเนินการเดินเครื่องผลักดันน้ำตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. 60 บริเวณสะพานข้ามลำน้ำสงคราม (ศรีสงคราม-บ้านนาเพียง) เพื่อช่วยเร่งระบายผ่านแม่น้ำสงครามผันลงสู่แม่น้ำโขง บริเวณบ้านตาลปากน้ำ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม จนถึงวันที่ 18 ส.ค. 60 รวมระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น 14 วัน

โดยการปฏิบัติที่ผ่านมา เรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือทั้ง 47 ลำสามารถผลักดันน้ำได้ 68,884,704 ลูกบาศก์เมตร หรือสามารถผลักดันน้ำได้ 104,688 ลูกบาศก์เมตร/เครื่อง/วัน ดึงมวลน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดนครพนมและสกลนคร ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากปล่อยไหลลงสู่แม่น้ำโขงตามธรรมชาติจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 วัน


ซึ่งการปฏิบัติงานถือว่าสามารถช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี ทำให้ย่นระยะเวลาน้ำท่วมขังลงเท่าตัว ทำให้ระดับน้ำท่วมขังบ้านเรือนลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ เหลือเพียงพื้นที่การเกษตรนาข้าวที่ยังได้รับผลกระทบ โดยหลังสถานการณ์เริ่มพ้นจุดวิกฤตจึงได้ถอนเครื่องผลักดันน้ำกลับไปประจำการที่กองทัพเรือ เพื่อเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาในพื้นที่อื่น

ขณะเดียวกัน ในส่วนของชลประทาน ยังคงเร่งเปิดประตูระบายน้ำอูนลงสู่ลำน้ำสงครามเพื่อไหลระบายลงน้ำโขงต่อเนื่องเต็มพิกัด เนื่องจากยังมีมวลน้ำจากเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ที่มีปริมาณเกินความจุไหลระบายมาสมทบก่อนไหลลงแม่น้ำโขง ทำให้ระดับน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ยังทรงตัว มีระดับประมาณ 11-12 เมตร ถือว่าอยู่ในระดับเต็มความจุ และลดระดับช้าวันละประมาณ 10-20 เซนติเมตร ส่งผลกระทบพื้นที่ลุ่มในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม อ.นาหว้า ยังมีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร

เบื้องต้นได้รับความเสียหายแล้วเกือบ 1 แสนไร่ เนื่องจากมีน้ำท่วมขังหลายวัน คาดว่าอีกประมาณ 10 วันจะเข้าสู่ภาวะปกติ ระดับน้ำท่วมขังนาข้าวจะลดลงต่อเนื่อง เพราะระดับน้ำโขงอยู่ที่ประมาณ 8.50 เมตร ยังสามารถรองรับน้ำจากลำน้ำสาขาได้อีกจำนวนมาก


ส่วนการสรุปความเสียหายเบื้องต้น ทางด้านจังหวัดนครพนมยังคงเร่งสำรวจในพื้นที่ได้รับผลกระทบที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยจำนวนทั้งสิ้น 11 อำเภอ จากพื้นที่ทั้งหมด 12 อำเภอ เหลือ 1 อำเภอไม่ได้รับผลกระทบ คือ อำเภอบ้านแพง มีพื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายทั้งหมดรวมประมาณ 2 แสนไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย เป็นวงเงินไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท อยู่ระหว่างการสำรวจให้ความช่วยเหลือ เยียวยาชดเชย ตามระเบียบทางราชการ

ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ พื้นที่ อ.นาแก มีพื้นที่นาข้าวเสียหายกว่า 75,000 ไร่ รองลงมาคือ อ.ศรีสงคราม นาข้าวได้รับความเสียหายกว่า 50,000 ไร่



กำลังโหลดความคิดเห็น