จันทบุรี - นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านช้างป่าจากประเทศมาเลเซีย เดินทางดูงานรั้วรังผึ้งกันช้างป่าของไทย ที่ใช้งานได้จริง หวังลดปัญหาคนกับช้างป่าในประเทศ
วันนี้ (21 ส.ค.) นายจิรชัย อาคะจักร และนางรชยา อาคะจักร นักวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง ได้ให้การต้อนรับคณะผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างป่า ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่บริษัท TDM plantation Sdn.Bhd.และคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Universiti Malaysia Terengganu ประเทศมาเลเซีย จำนวน 8 ท่าน เพื่อมาศึกษาดูงานต้นแบบการใช้รั้วรังผึ้งป้องกันช้างป่า ในประเทศไทย ณ แปลงเกษตรกรต้นแบบการใช้รั้วรังผึ้งของ น.ส.ดารารัตน์ ศิริมหา หมู่ที่ 1 ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งสนับสนุน และส่งเสริมโดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ในการเดินทางมาศึกษาดูงานครั้งนี้ นักวิชาการจากมาเลเซีย ให้ความสนใจในรูปแบบการใช้รั้วรังผึ้งป้องกันช้างป่าของประเทศไทย และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องช้างป่าระหว่างนักวิจัยของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งปัญหาช้างป่าในประเทศไทย และประเทศมาเลเซียมีส่วนคล้ายคลึงกัน โดยต้องการลดปัญหาคนกับช้าง และปรับตัวเรียนรู้ในการดำรงชีวิต
ทั้งนี้ ทางคณะได้รับฟังปัญหาในพื้นที่ ลงดูพื้นที่แปลงแนวรั้วรังผึ้งกันช้าง ซึ่งทางคณะได้สนใจเป็นอย่างมาก และจะนำรูปแบบของรั้วรังผึ้งไปปรับใช้ในประเทศมาเลเซียต่อไป
ด้าน นางรชยา อาคะจักร นักวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง กล่าวว่า ทางคณะผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างป่า ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริษัท TDM plantation Sdn.Bhd. และคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Universiti Malaysia Terengganu ประเทศมาเลเซียได้เดินทางมาเพื่อศึกษานำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ประเทศมาเลเซีย
โดยปัญหาของประเทศมาเลเซีย คือ ช้างป่าจะเข้ามาหากิน และทำลายสวนปาล์มของชาวบ้าน ถ้าสามารถนำวิธีการของรั้วรังผึ้งไปปรับใช้ในพื้นที่จะได้ผลมากน้อยเพียงใด เพราะช้างป่าเป็นช้างเอเชียแบบเดียวกับไทย และผึ้งเป็นสายพันธุ์อิตาเลียนแบบเดียวกัน
แต่ปัญหาของมาเลเซียคือ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมแปลงใหญ่ ทำให้ยากต่อการใช้รั้วรังผึ้ง จึงได้แนะนำให้ลองใช้วิธีปรับเส้นทางเดินของช้าง เพราะการทำรั้วรังผึ้งเน้นไปที่การดูแลครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า โดยจะแนะนำให้ทำรั้วรังผึ้งล้อมบ้านเพื่อป้องกันช้างป่าบุกประชิดตัวบ้าน ซึ่งที่ผ่านมา ในประเทศไทย สามารถใช้ได้ผลเป็นอย่างดี ลดความสูญเสียในทรัพย์สิน และเสียชีวิตได้ระดับหนึ่ง