xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แจงไม่ชัด..สภาเมืองพัทยาลงมติถอนโครงการจัดซื้อกล้องวงจรปิด 2 วาระ 21.6 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สภาเมืองพัทยา ลงมติถอนโครงการจัดซื้อกล้องวงจรปิด 2 วาระ 21.6 ล้านบาท หลังเจ้าหน้าที่ตอบข้อมูลไม่ชัดเจน ระบุโครงการเหมือนกันแต่มาตรฐานราคากลับแตกต่าง ขณะสมาชิกสภาพัทยา กังวลเผยโครงการวงจรปิดใช้งบอนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม ชี้ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจเป็นการใช้งบผิดวัตถุประสงค์

วันนี้ (18 ส.ค.) ที่ห้องประชุมสภาเมืองพัทยา จ.ชลบุรี พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา นำเสนอญัตติ 3 วาระรวด เพื่อขออนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมตามการเสนอของส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักยุทธศาสตร์และงบประมาณ เพื่อดำเนินการโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด บริเวณซอยนาเกลือ 22 และ 24 เชื่อมหาดพัทยา ในงบประมาณ 7.13 ล้านบาท และการขออนุมัติติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด บริเวณท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ในงบประมาณ 14.57 ล้านบาท

รวมทั้งการย้ายจุดติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเดิมเพื่อรองรับการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ อีกจำนวน 1.4 ล้านบาท โดยระบุว่า เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลประชาชน และนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในงานกิจกรรมสวนสนามทางเรือนานาชาติ ที่จะจัดขึ้นในโอกาสครอบรอบ 50 ปี การจัดตั้งอาเซียน ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

มีรายงานว่า สำหรับญัตติการขออนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม เพื่อดำเนินการโครงการติดตั้งกล้อง โทรทัศน์วงจรปิดทั้ง 3 โครงการนั้น ฝ่ายบริหารเคยนำเสนอต่อสภาเมืองพัทยาเพื่อพิจารณามาแล้ว 1 ครั้ง ในงบประมาณรวม 32 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า โครงการทั้งหมดนั้นถูกสภาเมืองพัทยาท้วงติงไว้ เนื่องจากไม่ได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดมาก่อนล่วงหน้า ที่สำคัญบางพื้นที่ยังมีการติดตั้งกล้องในปริมาณที่เกินความจำเป็น อีกทั้งจากผลการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของเมืองพัทยาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2548 นั้นพบว่า เมืองพัทยามีการติดตั้งกล้องไปแล้วกว่า 2,112 ตัว

แต่จนถึงปัจจุบันพบว่า กล้องเหล่านี้สามารถใช้งานได้เพียง 48% หรือ 800 กว่าตัวเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า ที่ผ่านมามีการจ้างเหมาภาคเอกชนเข้ามาดูแลระบบในงบกว่า 50 ล้านต่อปี แต่มาภายหลัง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ท้วงติงมาจึงได้ทำการยกเลิก ส่งผลให้การซ่อมบำรุงเป็นไปอย่างล่าช้า กระทั่งมีการนำเสนอต่อสภาเมืองพัทยาใหม่อีกครั้ง โดยมีการปรับลดขนาดของโครงการ และงบประมาณลงจนเหลือ 21.6 ล้านบาท

กรณีดังกล่าว นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี สมาชิกสภาเมืองพัทยา กล่าวว่า ตาม BOQ ของโครงการนั้นพบว่าอุปกรณ์บางอย่างมีมาตรฐานราคาที่น่าตั้งข้อสังเกต เช่น อุปกรณ์กระจายสัญญาณภายใน และภายนอกที่มีราคาแตกต่างกันมาก โดยภายในอยู่ที่ 5.5 หมื่นบาท แต่ภายนอก 1 หมื่นบาท ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงอุปกรณ์ภายนอกจะแพงกว่า ที่สำคัญราคาของกล้องจากโครงการที่เสนอเมื่อเทียบกันพบว่า บางโครงการราคาต่ำในราคาเพียงไม่ถึงหมื่นบาท แต่บางโครงการกลับราคาสูงถึงหลักแสนบาท

นอกจากนี้ ทราบว่าในอดีตที่ผ่านมา เมืองพัทยาจำเป็นต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ของโปรแกรม หรือสิทธิการเชื่อมต่อกล้องเข้ากับเครือข่ายให้แก่ผู้รับเหมารายเก่าในสนนราคากว่า 2 หมื่นบาทต่อจุด โดยปัจจุบันเมืองพัทยามีกล้อง 2 พันกว่าจุด และจะติดตั้งเพิ่มอีกนับร้อยจุด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้คงจะต้องเสียงบประมาณต่อปีอีกเป็นจำนวนมาก ขณะ นี้ Function ของลิขสิทธิ์นี้ในบางส่วนก็ไม่มีความจำเป็น จึงเห็นควรให้ไปศึกษาทั้งแนวทางการดูแลรักษาระบบ การบริหารจัดการ และการปรับลดเรื่องค่าลิขสิทธิ์เพื่อลดงบประมาณลง

ขณะที่ นายศักดิ์สิทธิ์ แย้มศรี สมาชิกสภาเมืองพัทยา มีความกังวลใจในเรื่องอนุมัติงบประมาณจ่ายขาดเงินสะสมว่า งบประมาณส่วนนี้ตามหลักแล้วจะพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ หรืออื่นๆ แต่เรื่องของวงจรปิดเป็นเรื่องของความปลอดภัย และการลดปัญหาอาชญากรรม ซึ่งควรจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก จึงควรพิจารณาด้วยความระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดในที่ประชุมสภามีมติไม่เห็นชอบใน 2 วาระ ได้แก่ การจัดซื้อกล้องบริเวณซอยนาเกลือ 22 และ 24 เชื่อมชายหาดพัทยา ในงบประมาณ 7.13 ล้านบาท และการติดตั้งกล่องบริเวณท่าเรือแหลมบาลีฮาย ในงบประมาณ 14.57 ล้านบาท ขณะที่โครงการย้ายจุดกล้องวงจรปิดบริเวณท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ในงบประมาณ 1.4 ล้านบาท สภามีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องทำการปรับย้ายเพื่ออำนวยความสะดวกต่อโครงการปรับภูมิทัศน์ต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น