xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้พังแล้ว! ระบบบำบัดน้ำเมืองพัทยาใช้ร่วม 20 ปีเสื่อมสภาพ ทำสถานการณ์น้ำเสี่ยงวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สถานการณ์น้ำเสียพัทยาสุ่มเสี่ยงวิกฤต หลังระบบบำบัดเริ่มเสื่อมสภาพหลังใช้งานมานานกว่า 18 ปี ส่งผลให้คุณภาพน้ำ (BOD) ที่ปล่อยลงสู่ทะเลใกล้เกินมาตรฐาน เมืองพัทยาระบุความสามารถรับน้ำเสียได้เพียงวันละ 6.5 หมื่น ลบ.ม.แต่น้ำเสียเพิ่มสูงถึง 8 หมื่นกว่า ลบ.ม.ต่อวัน เตรียมแผนแก้ไขระบบสูบน้ำใน 7 สถานีหลัก หลังพบปัญหาน้ำเสียค้างท่อเกินกำหนด เน้นหากยังไม่รีบแก้ไขมีหวังเข้าข่ายเสื่อมโทรม

ที่โรงแรมกรนด์โซเล เมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายรัตนชัย สุทธิเดชานัย ประธานที่ปรึกษาสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร และสมาชิก เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งการเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยเมืองพัทยา และกองทัพเรือ เข้าร่วมชี้แจงกรณีของการจัดการระบบน้ำเสีย และการจัดระเบียบร่มเตียงชายหาดพัทยา รวมทั้งความพร้อมในการจัดกิจกรรมสวนสนามทางเรือนานาชาติ ให้กับผู้แทนจากภาคเอกชนได้ร่วมรับฟังและซักถามข้อสงสัย โดยเฉพาะกรณีของปัญหาการจัดการระบบน้ำเสีย เนื่องจากที่ผ่านมามีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยว กับปัญหาน้ำเน่าเสียที่ถูกปล่อยทิ้งลงทะเลบริเวณพัทยาใต้ ซึ่งถือว่าสร้างความเสีย หายและผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

โดย นายสมภพ วันดี ผู้อำนวยการส่วนจัดการคุณภาพน้ำ สำนักการช่างเมืองพัทยา ชี้แจงว่าสำหรับเมืองพัทยาถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ ในอดีตเมืองพัทยาประสบกับปัญหาน้ำทะเลที่ไม่มีคุณภาพ เนื่องจากมีการปล่อยน้ำเสียจากสถานประกอบการและที่พักอาศัยลงสู่ทะเลโดยตรงจึงทำให้การท่องเที่ยวได้รับความเสียหายอย่างหนัก กรณีดังกล่าวจึงได้ว่ามีการนำเสนอขออนุมัติเงินจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจำนวน 1,800 ล้านบาท มาทำการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียอย่างเต็มรูปแบบ ในปี 2543 จึงทำให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ จนเมืองพัทยากลายเป็นท่องเที่ยวสำคัญในระดับนานาชาติ

อย่างไรก็ตามสำหรับระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยานั้นจนถึงปัจจุบันผ่านการใช้งานมานานกว่า 17 ปีเศษ ซึ่งตาม Road Map แล้วจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบเพื่อรองรับการเติบโตของสังคมเมืองพัทยา แต่ปรากฏว่าจากอดีตถึงปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยา ซึ่งมีอยู่จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ซอยวัดหนองใหญ่ และซอยวัดบุญกัญจนาราม ยังไม่มีการพัฒนาระบบและปรับปรุงอุปกรณ์เพื่อให้รองรับการเติบโตได้ทัน

โดยเฉพาะโรงบำบัดหลักที่ซอยวัดหนองใหญ่นั้น ยังคงความสามารถในการรองรับน้ำเสียได้เพียงวันละ 6.5 หมื่น ลบ.ม.เท่านั้น ขณะที่ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ของเมืองพัทยานั้นสูงถึงวันละ 8 หมื่น ลบ.ม. ขณะที่โรงบำบัดน้ำเสียซอยวัดบุญฯมีความสามารถในการรองรับน้ำเสียได้ 4.3 หมื่น ลบ.ม./วัน โดยมีน้ำเสียเข้าสู่ระบบ 1.2 หมื่น ลบ.ม./วัน แต่เมื่อคิดค่าเฉลี่ยในภาพรวมจากทั้ง 2 โรงบำบัด ตามการคิดคำนวณปริมาณการใช้น้ำประปานั้น พบว่าในแต่ละวันจะมีผู้ใช้น้ำประมาณ 1.19 แสน ลบ.ม.ทำให้มีน้ำเสียเกิดขึ้น 1.16 แสน ลบ.ม. แต่โรงบำบัดทั้ง 2 แห่งมีความสามารถในการรอง รับได้เพียง 9.1 หมื่น ลบ.ม./วัน ส่งผลให้คุณภาพของน้ำเสียเริ่มต่ำกว่ามาตรฐาน และอาจเกิดส่งผลกระทบได้ในอนาคตหากไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

นายสมภพ กล่าวต่อไปว่าสำหรับการบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยานั้นในอดีต หลังผ่านระบบแล้วจะมีค่ามาตรฐานของน้ำตามกฎหมายหรือ BOD เพียง 5-6 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น แต่เมื่อมีปริมาณน้ำเสียเข้าสู่ระบบเกินความสามารถในการรองรับ ขณะที่เครื่องจักรที่มีความเสื่อมสภาพลง ซึ่งแม้จะทำการบำบัดน้ำทั้งหมด แต่ก็ทำให้ค่ามาตรฐานของน้ำหรือ BOD ในปัจจุบันเฉลี่ยสูงกว่า 15-16 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือใกล้มาตรฐานที่ภาครัฐกำหนดว่าให้ค่ามาตรฐาน BOD เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตรก่อนปล่อยลงสู่ทะเล จึงถือเป็นเรื่องน่าวิตกพอสมควร

สำหรับปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงสู่ชายหาดพัทยาใต้ในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะระบบท่อระ บายที่รองรับน้ำเสียนั้นเป็นการใช้ระบบท่อเดียวกับการรับน้ำฝน ซึ่งเป็นกรณีที่มีการใช้ในลักษณะนี้กันโดยสากล แต่ด้วยปัญหาการชำรุดของสถานีสูบน้ำ และเครื่องจักรบางส่วน โดยเฉพาะสถานีสูบบริเวณถนนสายชายหาด จึงทำให้มีน้ำเสียค้างท่อจำนวนมากขึ้น เมื่อผสมกับน้ำฝนช่วงมรสุมที่ไหลมารวมและเอ่อล้นลงสู่ทะเลจึงทำให้น้ำมีลักษณะขุ่นข้นดำ มีกลิ่น และมีเศษสิ่งปฏิกูลออกมาด้วยในช่วงแรก แต่หลังจากผ่านไปได้ระยะหนึ่งแล้วสถานการณ์ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ

นายสมภพ กล่าวทิ้งท้ายว่าในปี 2560 นี้ เมืองพัทยาได้ดำเนินการขอจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการปรับปรุงสถานีสูบเพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ขณะที่ในระยะยาวจะมีการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับปัญหาน้ำเสียอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยจะมีการขยายความสามารถในการรองรับน้ำเสียให้ได้ 1.2-1.5 แสน ลบ.ม./วัน ที่โรงบำบัดวัดหนองใหญ่ แต่การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นที่ต้องจัดการรายงานผล กระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ก่อนเสนอโครงการไปยังภาครัฐ ซึ่งต้องใช้เวลาและงบประมาณพอสมควร


กำลังโหลดความคิดเห็น