กาฬสินธุ์ - สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมเข้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วม
วันนี้ (16 ส.ค.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปยังสำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว (เขื่อนลำปาว) อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อติดตามความคืบหน้า และรับฟังบรรยายสรุปการแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ผดุงเกียรติ โปร่งจิตต์ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 3 พร้อมด้วยนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์
จากนั้นเวลา 11.15 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เชิญสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคพระราชทานไปมอบแก่ครอบครัวราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ 300 ครอบครัว ที่วัดดอนยานาง ตำบลดอนสมบูรณ์ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ และนำไปมอบแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านท่าสีดา ตำบลลำพาน อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ 300 ครอบครัว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัยและบรรเทาความเดือดร้อน ทำให้ราษฎรปลื้มปีติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
สำหรับพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ประสบอุทกภัย 2 ห้วงเวลาต่อเนื่องกัน โดยช่วงที่ 1 เกิดจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “ตาลัส” ระหว่างวันที่ 25-27 กรกฎาคม 2560 และช่วงที่ 2 เกิดจากอิทธิพลของพายุ “เซินกา” ระหว่างวันที่ 25-27 กรกฎาคม 2560 ทำให้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง และมีปริมาณน้ำท่วมขังสร้างความเสียหายทั้ง 18 อำเภอ 126 ตำบล 1,276 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 307,411 ไร่
ปัจจุบัน สถานการณ์อุทกภัยพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้คลี่คลายลง จำนวน 13 อำเภอ ยังเหลืออีก 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอฆ้องชัย และอำเภอร่องคำ ที่ยังได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเขื่อนลำปาว ที่มีปริมาณน้ำ 1,640 ล้าน ลบ.ม. หรือ 82.86% จำเป็นต้องระบายน้ำวันละ 30 ล้าน ลบ.ม.ไปถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2560
จะลดปริมาณระบายลงตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2560 ปัจจุบัน ยังมีภาวะน้ำเอ่อล้นตลิ่ง และท่วมขังบ้านเรือนประชาชน 1,299 ครัวเรือน 24 หมู่บ้าน 11 ตำบล พื้นที่เกษตร 127,833 ไร่ และต้องอพยพมายังศูนย์พักพิงชั่วคราว 120 ครัวเรือน บางพื้นที่คลี่คลายลงได้เดินทางกลับ 80 ครัวเรือน เหลือพักอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิง 40 ครัวเรือน