xs
xsm
sm
md
lg

ภาคเกษตรกรรมบุกศาลากลาง จี้แก้ผังเมืองใหม่ ชี้เอื้อโรงงานรุกพื้นที่สีเขียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - กลุ่มชาวบ้านภาคเกษตรกรรม และสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน บุกศาลากลาง จี้ทางจังหวัดฉะเชิงเทรา และสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง แก้ผังเมืองที่เพิ่งปิดประกาศใช้ใหม่ ระบุส่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบสูงรุกเข้าสู่พื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น หวั่นส่งผลกระทบในระยะยาวต่อวิถีชาวบ้าน และชุมชน

วันนี้ (4 ส.ค.) ได้มีกลุ่มชาวบ้านจำนวนกว่า 60 คน ได้เดินทางมารวมตัวที่บริเวณศาลาประชาคม ด้านหลังศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเรียกร้องให้ทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.ฉะเชิงเทรา และผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ทำการแก้ไขผังเมืองที่เพิ่งมีการปิดประกาศใช้ใหม่ไปเมื่อเดือน มิ.ย.60 หลังจากชาวบ้าน พร้อมด้วยกลุ่มสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน ได้ทำการตรวจสอบ และพบว่า ผังเมืองใหม่ ที่มีการขอปรับแก้ไขไปนั้นเอื้อประโยชน์ให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และโรงงานที่มีผลกระทบสูงรุกเข้าสู่พื้นที่สีเขียวในภาคเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก

หลังการรวมตัวของชาวบ้าน ได้มี นายเฉลิมพล ต.สุวรรณ โยธาธิการและผังเมืองจ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย นางนงนุช ทวินันท์ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการและผังเมือง และ น.ส.เพ็ญนภา สุขบุญพันธ์ นักผังเมือง พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และผู้เกี่ยวข้องได้เดินทางลงมารับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่เดินทางมารวมตัวกันภายในศาลาประชาคม

โดย นายกัญจน์ ทัตติยกุล อายุ 37 ปี ผู้ประสานงานสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน อยู่บ้านเลขที่ 9 ถ.บางคล้า-แปลงยาว อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงการเดินทางมาในวันนี้ของชาวบ้านว่า จากการที่มีการขอแก้ไขผังเมืองรวม จ.ฉะเชิงเทรา และได้มีการปิดประกาศให้ประชาชนทราบเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งหมดเขตการประกาศใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.ค.60 นั้น

ทางสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน พร้อมด้วยชาวบ้าน จำนวน 221 ราย ที่ร่วมกันลงชื่อในการยื่นคำร้องขอให้แก้ไขในประเด็นที่เราได้ให้ความสำคัญมาก กรณีที่มีการอนุญาตให้ภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากถึง 92 เปอร์เซ็นต์ จากโรงงานทั้งหมดก่อตั้งได้ในพื้นที่สีเขียว และมีการยกเลิกการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับกิจการประเภทอื่น ที่มีการกำหนดให้มีพื้นที่ว่างจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ไปในคราวเดียวกันด้วย

ซึ่งจะส่งผลทำให้พื้นที่สีเขียวที่เคยมีการคัดกรองในเรื่องของอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบสูงออกไป จะไม่ได้ทำหน้าที่ในจุดนี้ และก็จะมีโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมากมายที่จะเข้ามาก่อตั้งในพื้นที่สีเขียวได้อีกด้วย ที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านได้เคยเข้ามายื่นหนังสือเพื่อคัดค้านการประกาศใช้ผังเมืองใหม่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.ค.60 เพื่อให้มีการทบทวนการกำหนดฝังเมืองใหม่ จนมีการประชุมคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมจังหวัดอีกครั้งแล้ว

แต่กลับมีความเห็นที่ไม่เห็นด้วยต่อกลุ่มของชาวบ้านที่ออกมายื่นคัดค้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการปล่อยให้ภาคอุตสาหกรรมรุกเข้ามาอยู่ในพื้นที่สีเขียวได้ และไม่ได้มีการนำเอาข้อมูลสำคัญในเอกสารประกอบแนบท้าย ที่ชาวบ้านได้ยื่นคัดค้านเข้าไปประกอบในการพิจารณาด้วย

นอกจากนี้ ยังไม่ได้มีการเปิดโอกาสให้แก่ชาวบ้าน และทางสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืนนั้น ได้เข้าไปชี้แจงถึงข้อเท็จจริงที่ได้มีการระดมความคิดเห็นมาจากชาวบ้าน เพื่อที่จะให้คณะที่ปรึกษาผังเมืองได้รับฟังความคิดเห็น และข้อมูลที่รอบด้านมากขึ้น ก่อนที่จะมีการพิจารณาประกาศใช้ จึงจะเห็นได้ว่าในกระบวนการพิจารณาที่ผ่านมานั้นยังขาดข้อมูลที่สำคัญ จึงได้เข้ามาเรียกร้องให้ทาง จ.ฉะเชิงเทรา และสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.ฉะเชิงเทรา นำข้อมูลกลับมาทำการทบทวนต่อคณะที่ปรึกษาอีกครั้ง ซึ่งจะได้ทำหนังสือเข้ามายื่นเป็นข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการต่อไป นายกัญจน์ กล่าว

ขณะที่ นายปราโมทย์ นพเกตุ อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 65/1 ม.6 ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้คาดหวังว่าผังเมืองจะเป็นเสมือนตัวช่วย หรือเป็นกำแพงกั้นเพื่อคัดกรองโรงงานอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเพื่อไม่ให้เข้ามาอยู่ใกล้กับชุมชน และพื้นที่ในเกษตรกรรมตามวิถีของชาวบ้าน แต่จากการขอแก้ไขและการประกาศใช้ผังเมืองใหม่ในครั้งนี้นั้น ตัวกรอง หรือผังเมืองจังหวัดที่เคยเป็นพื้นที่สีเขียวกลับไม่ได้ทำหน้าที่ของมันในการคัดกรองแต่อย่างใด

ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้หมู่บ้านในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ และส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอยู่ 2 แห่ง จนมีชาวบ้านได้เดินทางเข้ามาร้องต่อทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอย่างต่อเนื่องอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไขแบบยั่งยืนถาวรแต่อย่างใด จากทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ที่ทำได้แค่เพียงเข้าไปสั่งปิดเพื่อทำการแก้ไขปรับปรุงเพียงไม่กี่วัน พอโรงงานกลับมาเปิดใหม่ได้อีก ชาวบ้านต่างได้รับผลกระทบกันอีก เหมือนกับว่าไม่ได้มีการแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นเลย ปัญหาจึงเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำซากอยู่อย่างนี้

ด้าน นางบังอร รัตนโยธิน อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 77/1 ม.6 ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ตนเป็นอดีตข้าราชการครูที่เกษียณอายุราชการแล้ว ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มนายทุน และนายหน้าที่ได้พยายามเข้ามาบีบบังคับในเชิงเกลี้ยกล่อมให้ตนเองยอมขายที่ดินซึ่งเป็นสมบัติของบรรพบุรุษให้แก่นายทุน เพื่อที่จะเข้ามาก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมมาโดยตลอด

ทั้งที่ตนนั้นอยากจะเก็บที่ดินผืนนี้เอาไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลานได้อยู่อาศัยกันต่อไป นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่นก็ยังได้มีการปิดบังข้อมูลต่อชาวบ้านมาโดยตลอด และไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลอะไรให้แก่ชาวบ้านทราบมาก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาในพื้นที่บ้าง โดยเฉพาะจะมีโรงงานเกิดขึ้นมาอีกกี่แห่ง และจะมีโรงงานประเภทใด หรือจะมีโครงการอะไรเข้ามาสู่หมู่บ้านบ้าง มีการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่อชาวบ้านมาโดยตลอด

ส่วนด้าน นางนันทวัน หาญดี อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 60 ม.6 ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่ต้องมีสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารถึงการเปลี่ยนแปลงไปของชุมชน และมีสิทธิที่จะเสนอแนะข้อคิดเห็นในการที่จะมีการปรับแก้ไขผังเมืองได้ โดยที่คณะที่ปรึกษาจะต้องรับฟัง และหากเกิดปัญหาขึ้นมาในอนาคตแล้วใครจะรับผิดชอบ ทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จะรับผิดชอบไหวหรือไม่

และหากส่งผลเสีย หรือผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง รัฐบาลก็ยังต้องเสียเงินงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของประชาชนในการเข้ามาเยียวยา และการเยียวยาที่ผ่านมานั้นก็ไม่สามารถทำให้พื้นที่กลับคืนมาดีได้ตามเดิม



กำลังโหลดความคิดเห็น