xs
xsm
sm
md
lg

ศรีสะเกษแขวนประตู 2 เขื่อนกั้นแม่มูลเร่งระบายน้ำ รับมือมวลน้ำเหนือทะลัก ท่วมแล้ว 9 อำเภอ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เขื่อนราศีไศล  อ.ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ ได้เปิดประตูระบายน้ำ โดยแขวนประตูระบายน้ำทั้ง 7 บานเพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูล เตรียมรับมือมวลน้ำเหนือ จาก นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ วันนี้ ( 3 ส.ค.)
ศรีสะเกษ - สั่งแขวนประตูระบายน้ำ 2 เขื่อนกั้นแม่น้ำมูล จ.ศรีสะเกษ ปล่อยให้ไหลตามธรรมชาติเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง จ.อุบลฯ เตรียมรับมือมวลน้ำเหนือไหลหลากลงมาจากโคราช บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ขณะ 9 อำเภอยังถูกน้ำท่วม ไร่นาจมใต้น้ำกว่า 1 แสนไร่ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย


วันนี้ (3 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่างเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ นายภานรินทร์ ภาณุพินทุ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง ได้สั่งการให้เปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนราศีไศล โดยแขวนประตูระบายน้ำทั้ง 7 บานไว้ และได้แขวนประตูระบายน้ำทั้ง 14 บานของเขื่อนหัวนา ที่ อ.กันทรารมย์ ซึ่งเขื่อนหัวนาเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ศรีสะเกษด้วยเช่นกัน เพื่อปล่อยให้น้ำไหลตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ เพื่อทำการเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำมูลบริเวณด้านเหนือเขื่อนทั้งสองแห่งไปตามแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขง เพื่อรองรับปริมาณน้ำใหม่ที่จะไหลหลากมาจาก จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยในช่วงนี้ระดับน้ำของแม่น้ำโขงบริเวณ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ยังต่ำกว่าตลิ่ง 2.50 เมตร จะเป็นผลดีต่อการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ลงสู่แม่น้ำโขงได้สะดวกยิ่งขึ้น และเป็นการบรรเทาทุกข์ภัยที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ

โดย นายเมธี สุพรรณฝ่าย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้สั่งการให้นายอำเภอทุกพื้นที่ที่มีพื้นที่อยู่ติดกับลุ่มน้ำมูลให้แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เนื่องจากปริมาณน้ำมากขึ้น โดยให้นายอำเภอท้องที่ประสานงานการปฏิบัติกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือดูแลประชาชนได้ทันท่วงที


ทางด้าน นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมรับมวลน้ำจากจังหวัดใกล้เคียงที่จะไหลเข้ามาสู่เขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ จึงได้เรียกประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดศรีสะเกษเพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และนายอำเภอทั้ง 22 อำเภอเข้าร่วมประชุม พร้อมกับรายงานสถานการณ์การเกิดอุทกภัยในแต่ละพื้นที่และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

สถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ได้รับผลกระทบรวม 9 อำเภอ คือ อ.กันทรลักษ์ ขุนหาญ โนนคูณ น้ำเกลี้ยง พยุห์ ไพรบึง ภูสิงห์ ศรีรัตนะ และ อ.เบญจลักษ์ รวม 62 ตำบล 467 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 17,194 ครัวเรือน 65,611 คน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ที่ อ.วังหิน 1 ราย อ.ปรางค์กู่ 1 ราย และ อ.กันทรารมย์ 1 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตที่ อ.วังหินได้มอบเงินให้การช่วย 30,000 บาท และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบ 423 หลัง ถนนได้รับผลกระทบ 108 สาย แต่ราษฎรยังสามารถสัญจรไปมาได้ พื้นที่การเกษตรจมใต้น้ำ ประกอบด้วย นาข้าว 121,120.72 ไร่ และพืชไร่ ยางพารา 13 ไร่ พืชสวน 15 ไร่ บ่อปลา จำนวน 30,000 ตัว รวม 3 บ่อ

ทางด้าน นายวิบูลย์ กิ่งสุวรรณ นายอำเภอน้ำเกลี้ยง เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่วันนี้ ถนนเชื่อมระหว่างบ้านลุมภู ม.2 ต.น้ำเกลี้ยง อ.น้ำเกลี้ยง กับบ้านผักขะย่าใหญ่ ต.โพธิ์ อ.โนนคูณ น้ำจากลำห้วยขะยูงได้ท่วมขังในบางช่วงถนนสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร (ซม.) ระยะทางประมาณ 20 เมตร บริเวณช่วงรอยต่อถนนกับสะพานสามารถใช้สัญจรได้แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง ถนนบ้านสะพุง ม.6 ต.คูบ อ.น้ำเกลี้ยง ไปถึง ต.บก อ.โนนคูณ น้ำจากลำห้วยขะยูงยังท่วมขัง เนื่องจากมีถนนช่วงที่เป็นลูกรังระยะทางประมาณ 25 เมตร ที่เสียหายจากน้ำท่วมบางส่วน

นอกจากนี้ ถนนบ้านสะพุง ม.6 ไปยังบ้านหนองแวง ม.5 ต.คูบ อ.น้ำเกลี้ยง ระดับน้ำลดลงปกติ สามารถสัญจรไปมาได้ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังเนื่องจากผิวถนนขรุขระเนื่องจากเป็นถนนดิน และได้แจ้งให้ อบต.คูบสำรวจแก้ไขแล้ว ซึ่งเส้นทางดังกล่าวประชาชนสามารถใช้เส้นทางเลี่ยง ทางสำรอง เป็นถนนหินคลุกสัญจรได้สะดวกกว่า ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร


นายธวัช สุระบาล  ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ
กำลังโหลดความคิดเห็น