xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาโคราชสุดช้ำ นาข้าวจมบาดาลเซ่น “เซินกา” กว่า 1 แสนไร่ อ่วม 12 อำเภอ บ้านพัง 240 หลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาพน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง ใน อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา เขตรอยต่อกับ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชาวนาโคราชสุดช้ำ! นาข้าวจมบาดาลเซ่นพายุ “เซินกา” แล้วกว่า 1 แสนไร่
ผู้ว่าฯ เผยโคราชได้รับผลกระทบน้ำท่วมต้องประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินทั้งสิ้น 12 อำเภอ 75 ตำบล 758 หมู่บ้าน ล่าสุดเผย 3 อำเภอยังท่วมหนัก ราษฎรเดือดร้อน 23,142 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหาย 243 หลัง และพื้นที่เกษตรจมน้ำ 104,651 ไร่ คาดหากไม่มีฝนตกอีก 1 สัปดาห์คลี่คลาย

วันนี้ (3 ส.ค.) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครราชสีมาว่า ล่าสุดภาพรวมยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวจมน้ำเสียหาย ซึ่งล่าสุดน้ำยังคงท่วมขังบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่เกษตรหลักๆ 3 อำเภอ คือ อ.โนนแดง, อ.ประทาย และ อ.เมืองยาง ขณะที่ อ.บัวใหญ่ยังมีน้ำท่วมขังนาข้าวอยู่บางส่วน การช่วยเหลือนั้นได้พยายามเร่งระบายน้ำลงลำน้ำลำสะแทด และลำน้ำมูล คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์นี้หากฝนไม่ตกลงมาซ้ำอีกน้ำจะออกจากพื้นที่เหล่านี้ได้หมด

สำหรับความช่วยเหลือช่วงนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่จังหวัดนครราชสีมาได้รับพระราชทานถุงยังชีพจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่พระราชทานแก่ราษฎรรอบแรก ที่ อ.บัวใหญ่, อ.โนนแดง และ อ.ประทาย และวันที่ 4 ส.ค.นี้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์กับผู้แทนพระองค์จะอัญเชิญถุงยังชีพพระราชทานมามอบแก่ผู้ประสบภัยในทุกอำเภอที่ประสบอุทกภัยทั้ง 12 อำเภอ

อย่างไรก็ตาม มีอยู่ 1 หมู่บ้าน คือ บ้านไทยสามัคคี อ.เทพารักษ์ ที่ประชาชนต้องอพยพจากบ้านเรือน จำนวน 33 ครัวเรือน กว่า 100 คน ย้ายมาพักอยู่โรงเรียนบ้านสะพานหิน ทางมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งพา (ภาฯ) ยามยากประกอบอาหารเลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์หากไม่มีฝนตกในอีก 3 วันนี้ และเห็นว่าปลอดภัยแน่นอนแล้วจะนำพี่น้องประชาชนกลับไปยังบ้านภูมิลำเนา และจะจัดให้มีระบบการเตือนภัยตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดฝนตกขึ้นมา รวมทั้งการแจ้งอพยพ
ระดับน้ำท่วมวันนี้ ( 3 ส.ค.) ที่ อ.ประทาย จ.นครราชสีมา

ทางด้านศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และดินถล่ม จังหวัดนครราชสีมาได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ผลกระทบจากพายุ “เซินกา” ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. ถึง 3 ส.ค. 2560 ระบุว่า ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งสิ้น 12 อำเภอ 75 ตำบล 758 หมู่บ้าน 14 ชุมชน ดังนี้

อำเภอเทพารักษ์ 5 ตำบล 57 หมู่บ้าน, อำเภอชุมพวง 4 ตำบล 26 หมู่บ้าน, อำเภอสีดา 5 ตำบล 50 หมู่บ้าน, อำเภอบัวลาย 4 ตำบล 45 หมู่บ้าน, อำเภอแก้งสนามนาง 5 ตำบล 56 หมู่บ้าน, อำเภอโนนแดง 5 ตำบล 64 หมู่บ้าน, อำเภอประทาย 13 ตำบล 151 หมู่บ้าน, อำเภอบัวใหญ่ 10 ตำบล 109 หมู่บ้าน 9 ชุมชน, อำเภอด่านขุนทด 8 ตำบล 53 หมู่บ้าน, อำเภอเมืองยาง 4 ตำบล 27 หมู่บ้าน, อำเภอลำทะเมนชัย 5 ตำบล 50 หมู่บ้าน และอำเภอพิมาย 7 ตำบล 70 หมู่บ้าน

มีราษฎรประสบภัยรวม 23,142 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหาย 243 หลัง วัด/กุฏิสงฆ์ 5 หลัง สถานที่ราชการ 2 แห่ง ถนน 119 สาย สะพาน 5 แห่ง ยุ้งข้าว 1 หลัง ฝาย 15 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง โรงงาน 3 แห่ง บ่อปลา 147 บ่อ คันดิน 17 แห่ง เป็ด/ไก่ 1,300 ตัว และพื้นที่เกษตรกรรม 104,651 ไร่

อำเภอที่สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว จำนวน 9 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเทพารักษ์ อำเภอชุมพวง อำเภอสีดา อำเภอบัวลาย อำเภอบัวใหญ่ อำเภอแก้งสนามนาง อำเภอด่านขุนทด อำเภอพิมาย และอำเภอลำทะเมนชัย

อำเภอที่ยังมีสถานการณ์น้ำท่วม จำนวน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอประทาย อำเภอโนนแดง และอำเภอเมืองยาง
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ นครราชสีมา
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดวันนี้ (3 ส.ค.) ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎร พื้นที่การเกษตร จำนวน 3 อำเภอ 21 ตำบล 242 หมู่บ้าน ดังนี้ 1. อำเภอประทาย แนวโน้มสถานการณ์น้ำท่วมลดลงเกือบปกติในพื้นที่ ได้แก่ ต.วังไม้แดง ต.หันห้วยทราย ต.กระทุ่มราย ต.หนองพลวง ต.โนนเพ็ด และ ต.เมืองโดน ตำบลที่ระดับน้ำยังมีน้ำท่วมขังเล็กน้อย ได้แก่ ต.ประทาย ต.ทุ่งสว่าง ต.นางรำ และ ต.หนองค่าย ส่วนอีก 3 ตำบล ได้แก่ ต.ตลาดไทร ต.ดอนมัน และ ต.โคกกลาง ซึ่งติดลำสะแทด ยังคงมีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง แต่ระดับน้ำลดลงจากเมื่อวาน 50 ซม.

2. อำเภอโนนแดง ไม่มีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำลดลงทุกตำบล และ 3. อำเภอเมืองยาง แนวโน้มสถานการณ์เริ่มลดลง จาก 4 ตำบล เหลือ 2 ตำบล ได้แก่ ต.ละหานปลาค้าว ต.กระเบื้องนอก และระดับลดลงจากเมื่อวานประมาณ 10 ซม.

ทั้งนี้ แนวโน้มสถานการณ์น้ำท่วมลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ได้เปิดช่องทางระบายมวลน้ำระหว่างบ้านกระเบื้องนอก อ.เมืองยาง กับบ้านบุ่งเบา อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ลึก 1.50 เมตร ยาว 30 เมตร เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่อำเภอประทาย และอำเภอเมืองยางลงสู่ลำน้ำมูลให้เร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น