ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ธปท.อีสานห่วงน้ำท่วมหนักจากพายุเซินกากระทบเศรษฐกิจอีสาน เบื้องต้นนาข้าวถูกท่วมหนักกว่า 3 ล้านไร่ ปศุสัตว์เสียหาย เฉพาะภาคเกษตรเสียหายกว่า 7,000-10,000 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมายังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ หลังการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว ภาคท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น จับตาแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 3 หลังภาคอีสานถูกน้ำท่วมหนัก
วันนี้ (2 ส.ค. 60) ที่ห้องประชุมธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอเมืองขอนแก่น นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) พร้อมผู้บริหารส่วนงานต่างๆ ร่วมแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 2 ปี 2560
เวทีแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้หยิบยกปัญหาน้ำท่วมหนักจากอิทธิพลพายุเซินกา ทำให้ฝนตกหนักต่อเนื่องและเกิดน้ำท่วมขังหนักที่จังหวัดสกลนคร และขยายตัวครอบคลุมไปกว่า 19 จังหวัดอีสานได้รับผลกระทบ ซึ่งผลกระทบที่เห็นเด่นชัดคือภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบรุนแรง เบื้องต้นประชาชนกว่า 70,000 ครัวเรือน หรือ 2 แสนกว่าคนเดือดร้อน นาข้าวถูกน้ำท่วมถึง 2-3 ล้านไร่ หรือร้อยละ 12 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดในอีสาน ขณะที่ภาคปศุสัตว์ก็เสียหายหนักเช่นกัน
ประเมินความเสียหายเฉพาะภาคเกษตรมีมูลค่ากว่า 7,000-10,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับระยะเวลานาข้าวถูกน้ำท่วม และการพร่องน้ำออกจากพื้นที่ ขณะที่ความเสียหายต่อทรัพย์สิน บ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม ยังไม่สามารถประเมินได้ ซึ่งผลกระทบจากน้ำท่วมนาข้าว ปศุสัตว์ใน 19 จังหวัดภาคอีสาน น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจภาคอีสานในระยะต่อไปด้วย
นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน จากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นตามการขยายตัวของรายได้เกษตรกร รายได้ภาคบริการด้านการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น นอกจากนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคการค้าขยายตัวดี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลง ทั้งนี้ เงินฝากคงค้างของสถาบันการเงินชะลอลง ส่วนสินเชื่อทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากไตรมาสก่อนตามราคาอาหารสดและน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอัตราการว่างงานปรับลดลงจากการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ภาคการเกษตร
นายสมชายกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 3 ว่า ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจอีสานคือ มาตรการกระตุ้นของภาครัฐที่จะมีเม็ดเงินไหลเข้าภาคอีสานจำนวนมาก ทั้งโครงการสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศของกลุ่มจังหวัด, โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ, โครงการหมู่บ้านละ 200,000 บาท ซึ่งต้องดูถึงการเบิกจ่ายจะล่าช้าหรือไม่
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวก คือ การค้าชายแดนของภาคอีสานขยายตัวดีต่อเนื่อง และที่สำคัญคือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่น การสร้างรถไฟทางคู่เข้ามาในภาคอีสาน จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนตามพื้นที่ของโครงการด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่น่าห่วงคือผลกระทบต่อภาคเกษตร หลังพื้นที่เกษตร 19 จังหวัดภาคอีสานถูกน้ำท่วมหนัก ขณะเดียวกัน ออเดอร์ยางพาราจากประเทศจีนมีการชะลอตัวลง เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอีสาน