พิษณุโลก - วัดโพธิญาณ เมืองพิษณุโลกทำพิธีสะเดาะเคราะห์แบบโบราณ “ตุ๊กตาเสียกบาล” เป็นพิธีที่สืบทอดตามความเชื่อตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีประชาชนเข้าร่วมไม่ขาดสาย ปัจจุบันถือเป็นที่แรกและที่เดียวของประเทศที่ยังมีพิธีกรรมนี้อยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดโพธิญาณ หมู่ 4 ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก พบพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ต่ออายุแบบโบราณ ซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยาก นั่นคือ พิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาด้วย “ตุ๊กตาเสียกบาล” ที่สืบทอดตามความเชื่อของคนโบราณในสมัยก่อน มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์จวบจนถึงปัจจุบัน
โดยทางวัดได้นำตุ๊กตาเสียกบาลที่ว่าจ้างให้ช่างปั้นดินเผาใน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เป็นผู้ปั้นครั้งละจำนวน 1,000 ตัว เพื่อนำมาให้ญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดแล้วต้องการจะสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ได้กระทำพิธีแบบโบราณ “ตุ๊กตาเสียกบาล” โดยจะมีตุ๊กตาเสียกบาลที่ถูกปั้นเป็นหุ่นผู้ชายและผู้หญิงวางเรียงรายอยู่บนโต๊ะจำนวนมาก ในลักษณะท่านั่งคุกเข่าพนมมือ บางตัวจะอุ้มลูกน้อยไว้ในอ้อมอก หรือบางตัวจะอุ้มไก่ ซึ่งตุ๊กตาเสียกบาลเป็นตุ๊กตาที่สร้างขึ้นจากความเชื่อ ทำขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนให้รับเคราะห์แทนคนคนนั้นไปแล้วคนจะได้ไม่เป็นอะไร ตุ๊กตาเสียกบาลจึงทำขึ้นเมื่อมีคนเจ็บป่วย ไม่สบาย คนท้องแก่ที่กำลังจะคลอดลูก หรือคนถูกคุณไสยเล่นงานต่างๆ
พระครูสุนทรโรจนคุณ เจ้าอาวาสวัดโพธิญาณ กล่าวว่า สำหรับพิธีจะเริ่มต้นจากให้คนที่คาดว่ามีเคราะห์เขียนชื่อตัวเองลงบนตุ๊กตาเสียกบาล แล้วนอนลงคลุมด้วยผ้าสีขาว ในมือถือตุ๊กตาเสียกบาลแล้วพนมมือเอาไว้ พระสงฆ์ก็จะสวดมนต์คาถาบท “ยายกะลา ตากะลี” ซึ่งเป็นที่เกรงขามของหมู่ภูตผีต่างๆ และสวดเป็นสวดตาย
จากนั้นเมื่อเสร็จพิธีก็จะนำตุ๊กตาเสียกบาลไปวางไว้ตรงทางสามแพร่ง หรือนำไปใส่กระทงลอยน้ำ แต่ที่นิยมก็คือการนำตุ๊กตาเสียกบาลไปวางไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ใช้ไม้ทุบที่หัวจนหลุดออกจากบ่าเป็นตัวตายตัวแทน ถือว่าบุคคลนั้นมีชีวิตเริ่มต้นใหม่แล้วนั่นเอง นอกจากนี้ก็ยังมีการเดินลอดโลงศพสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อส่วนบุคคล
เจ้าอาวาสวัดโพธิญาณกล่าวอีกว่า วัดโพธิญาณได้สืบทอดการทำบุญสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาด้วยตุ๊กตาเสียกบาลแบบโบราณมานาน ถือว่าเป็นแห่งเดียวของจังหวัดพิษณุโลกที่ยังมีการทำพิธีกรรมโบราณนี้อยู่ ที่ผ่านมาจะมีประชาชนที่มาทำบุญสะเดาะเคราะห์ต่อดวงชะตาแบบโบราณ “ตุ๊กตาเสียกบาล” จำนวนมาก
ส่วนผู้ที่ต้องการจะทำบุญสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาด้วยตุ๊กตาเสียกบาลแบบโบราณก็สามารถเดินทางมาได้ที่วัดโพธิญาณ โดยคิดค่าทำพิธีจำนวน 100 บาท นอกจากนี้ที่วัดแห่งนี้ยังผลิต “ขนมปังรสพระทำ” ไว้สำหรับรับประทานและเลี้ยงปลาอีกด้วย