xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานลุยติดตามคืบหน้างานเจาะระเบิดอุโมงค์ส่งน้ำช่วง “แม่แตง-แม่งัด” เพิ่มน้ำ “เขื่อนแม่กวง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 นำฝ่ายปกครองและหน่วยงานเกี่ยวข้องทดสอบผลการระเบิดและติดตามความคืบหน้างานเจาะระเบิดอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิ่มปริมาณในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงจังหวัดเชียงใหม่ เผยเพิ่งคืบหน้า 9% เหตุติดขัดอุปสรรคหลายอย่าง แต่เชื่อมั่นทุกอย่างจะลุล่วงตามแผน พร้อมยืนยันไม่ส่งผลกระทบเรื่องเสียงดังและแรงสั่นสะเทือนระหว่างดำเนินการ ชี้หากสร้างเสร็จจะส่งผลดีเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค รวมทั้งบรรเทาอุทกภัย

วันนี้ (24 ก.ค. 60) ที่บ้านทับเดื่อ ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ นายศราวุธ ไทยเจริญ นายอำเภอแม่แตง พร้อมด้วยนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ และนายวงศ์พันธ์ วงศ์สมุทร หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 พร้อมหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีเปิดงาน “สานต่องานพ่อ เติมน้ำเติมชีวิต” และดำเนินการงานเจาะระเบิดอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด ตามโครงการเพิ่มปริมาณในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่
 
โดยมีการจัดพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และการจัดพิธีบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนการกดปุ่มทำการระเบิดหินภายในอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัด เพื่อการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ยังเพื่อเป็นการทดสอบผลกระทบจากการระเบิดและติดตามความคืบหน้าโครงการด้วย
 
หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 เปิดเผยว่า การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิ่มปริมาณน้่ำในอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา ที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ให้กรมชลประทานก่อสร้างขึ้นเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของแหล่งกักเก็บน้ำลุ่มแม่น้ำปิงในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เพื่อการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านการเกษตร อุปโภคบริโภค การบรรเทาอุทกภัย การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม โดยขณะนี้การก่อสร้างอุโมงค์เข้า-ออก หมายเลข 2 ที่อยู่ในบริเวณนี้ ขุดเจาะอุโมงค์ไปแล้ว 60 เมตร จากทั้งหมด 130 เมตร ส่วนอุโมงค์เข้าออกหมายเลข 1 ขุดเจาะไปแล้ว 80 เมตร จากความยาวทั้งหมด 900 เมตร

ส่วนในเรื่องของเสียงจากการระเบิดเจาะอุโมงค์ที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อช้างที่อยู่ในปางช้างในพื้นที่ใกล้เคียงโครงการนั้น นายวงศ์พันธ์บอกว่า จากการดำเนินการพบว่าช้างมีอาการหยุดชะงักบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตามไม่ได้ส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้เกิดอาการตื่นตกใจแต่อย่างใด โดยระดับเสียงจากการระเบิดแต่ละครั้งจะมีความดังอยู่ที่ประมาณ 70-80 เดซิเบล อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 115 เดซิเบล และความสั่นสะเทือนอยู่ที่ 0.3 มิลลิเมตรต่อวินาที อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 3 มิลลิเมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าทั้งระดับเสียงดังและความสั่นสะเทือนยังอยู่ในระดับปลอดภัย

ขณะที่ภาพรวมความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการอุโมงค์ผันน้ำแม่งัด-แม่กวงนั้น ขณะนี้ดำเนินการไปได้ประมาณร้อยละ 9 ช้ากว่าแผนที่วางไว้เล็กน้อย เนื่องจากติดปัญหาด้านการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติในช่วงแรกนานประมาณ 6 เดือน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา นอกจากนี้ การขออนุญาตใช้ระเบิดและขนส่งระเบิดยังมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนด้วย ซึ่งเพิ่งได้รับใบอนุญาตขนย้ายมาเมื่อ 8 มิ.ย. 60 ที่ผ่านมา จึงส่งผลให้การดำเนินงานมีความคืบหน้าไปไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าในที่สุดการดำเนินงานจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ หากโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่งัด-แม่กวงดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จนั้น หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 ระบุว่า จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้มากขึ้นเฉลี่ยปีละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เขตชลประทานในฤดูแล้งเพิ่มขึ้นจากเดิม 17,060 ไร่ เป็นกว่า 76,129 ไร่ ขณะเดียวกันจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมจากปีละ 13.31 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 49.99 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในตัวเมืองเชียงใหม่และรักษาระบบนิเวศท้ายน้ำได้ปีละ 12.61 ล้านลูกบาศก์เมตร




กำลังโหลดความคิดเห็น