ยโสธร - ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ผนึกพลังร่อนจดหมายถึง สผ. ถึงความวิตกกังวลผลกระทบสิ่งแวดล้อมรอบด้านจาก รง.น้ำตาล และ รง.ชีวมวลเข้าไปลงทุนใกล้แหล่งน้ำและชุมชน เผยเวทีรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย 2 ครั้งที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านที่ค้านถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วม ยื่นข้อเสนอให้เริ่มกระบวนการเปิดเวทีรับฟังความเห็นใหม่
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ได้ร่วมกันเขียนจดหมายถึงสำนักแผนนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสื่อสารให้หน่วยงานรับผิดชอบรับทราบถึงข้อวิตกกังวลของชาวบ้านที่เป็นห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ชุมชน ซึ่งจะมีโรงงานผลิตน้ำตาล 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ โดยกลุ่มนายทุนมีแผนจะสร้างใกล้แหล่งน้ำและชุมชน
นายสมัย คดเกี้ยว กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง เปิดเผยว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันในการเขียนจดหมายถึง สผ. เพื่อบอกกล่าวว่าพวกเรามีข้อกังวลต่อโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้บ้าน และยังเป็นห่วงถึงการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากลำเซบาย
“การเขียนจดหมายถึง สผ.ในครั้งนี้พวกเราอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อ่านข้อกังวลของพวกเราด้วย พวกเราอยากจะให้ทาง สผ.ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นจริงจากชาวบ้านในพื้นที่ด้วย พวกเราหวังว่าหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องกับโครงการได้สอบถามความเห็นของชาวบ้านท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่ที่จะสร้างโรงงานก่อน เพราะชาวบ้านเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น” นายสมัยกล่าวย้ำ
ด้านนางสาวนวพร เนินทราย เลขาฯ กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย บอกว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่เขียนจดหมายถึง สผ. เพื่ออยากบอกว่าไม่อยากมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใกล้ชุมชน ซึ่งเรามีความกังวลในการแย่งชิงน้ำจากลำเซบาย เนื่องจากหมู่บ้านของเรามีการใช้น้ำจากลำเซบายในการทำน้ำประปา และทำการเกษตรเป็นหลัก เมื่อมีโรงงานเข้ามาจะส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยตรง
ไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิงทรัพยากร วิถีชุมชนที่เปลี่ยนไป สุขภาพของคนในชุมชน ปัญหาแรงงานต่างถิ่น สารพิษจากการปลูกอ้อยตกค้างในดิน ส่งผลให้พืชชนิดอื่นได้รับผลกระทบได้
ที่สำคัญ ที่ผ่านมาพวกเราไม่ทราบเลยว่าจะมีการมาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใกล้ชุมชน มาทราบก็ตอนที่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 แล้ว เป็นการปิดบังข้อมูลข่าวสารต่อชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงเป็นเหตุให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อชุมชน
ทั้งนี้ ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ได้รวบรวมจดหมายบางส่วนของกลุ่มเพื่อเตรียมส่งให้ สผ.
ขณะที่นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน กล่าวว่า ตามที่บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และบริษัท มิตรผลไบโอพาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบและพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีแผนจะก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ โดยได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 และวันที่ 10 มีนาคม 2560
ทั้งสองเวทีมีชาวบ้านทำหนังสือคัดค้านการจัดเวทีทั้งสองครั้ง เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการ ข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบในภาพรวมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ให้ประชาชนผู้เข้าร่วมได้เข้าใจในตัวโครงการก่อนที่จะเข้าร่วมให้ความเห็นในเวที และทั้งสองเวทีมีการกำหนดผู้เข้าร่วมล่วงหน้า
โดยกีดกันไม่ให้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยเข้าไปแสดงความคิดเห็น หรือเข้าร่วมรับฟังข้อมูลในเวที จึงเป็นการจัดเวทีที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียได้เข้าร่วมความคิดเห็นอย่างครอบคลุมผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ และในวันที่ 30 กรกฎาคม 2560 นี้ ทางบริษัทฯ ก็ยังจะมาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชนในโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผลไพโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัดอีกครั้ง
“ที่ผ่านมาได้ติดตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งสามครั้งที่ผ่านมา ผมเห็นว่าในปัจจุบันประชาชนในพื้นที่และทางกลุ่มยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนของโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดของหน่วยงานรัฐที่จะมาดำเนินการในพื้นที่ และสิทธิของประชาชนชุมชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ และไม่มีความชัดเจนว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และบางครั้งยังทำกระบวนการไม่ถูกต้องด้วยซ้ำไป”
ตนมองว่าการเขียนจดหมายถึง สผ.ครั้งนี้เป็นการสะท้อนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับรู้ข้อกังวลของชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียจากการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นข้อวิตกกังวลต่างๆ ประกอบด้วย
1. ประเด็นการให้ข้อมูลกับชาวบ้านในรัศมี 5 กิโลเมตรที่มีส่วนได้เสียไม่ครอบคลุม ก่อนจะมีแผนดำเนินการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถึงขั้นตอนและกระบวนการสร้าง บ่งบอกถึงการไม่เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านได้รับทราบตั้งแต่ก่อสร้างเลย
2. ประเด็นการแย่งชิงทรัพยากรน้ำไปใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม ซึ่งในพื้นที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้น้ำจากลำเซบายในกระบวนการผลิตน้ำประปา และการเกษตร
3. สภาพพื้นที่ของ อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำการเกษตรในการปลูกพืชสวนผสม เช่น ทำนา ปลูกผัก เป็นต้น ตามนโยบายของจังหวัดเมืองยโสธรเกษตรอินทรีย์ และจังหวัดอำนาจเจริญตามนโยบายเมืองธรรมเกษตร ซึ่งไม่ใช่พื้นที่จะเหมาะกับปลูกพืชเชิงเดี่ยว
4. ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากมองจากกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ประชาชนที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น จึงสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตามกระบวนการทางกฎหมายที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ดังนั้น ทางเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสานมีข้อเสนอว่า ต้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงและกระบวนการขั้นตอนการอนุมัติอนุญาต รวมทั้งสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล, ให้บริษัท คอลซัลแทนท์ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับจ้างศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใหม่ เริ่มตั้งแต่เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เนื่องจากกระบวนการในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาขาดความชอบธรรม
ที่สำคัญ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุมัติโครงการโดยตรง จะต้องให้ชาวบ้านที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดำเนินโครงการน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลในรัศมี 5 กิโลเมตร ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้นในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน