ศูนย์ข่าวศรีราชา - โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จัดการประชุมเสวนาวิชาการ คนต่อสู้โรคเอสแอลอี หรือโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง ครั้งที่ 3 พบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมักจะเกิดกับผู้หญิง
วันนี้ (22 ก.ค.) พญ.พรเพ็ญ อัครวัชรางกูร อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จัดการประชุมเสวนาวิชาการ คนต่อสู้โรคเอสแอลอี ครั้งที่ 3 เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี และให้ความรู้เกี่ยวกับโรค และทักษะในการดูแลตนเอง โดยมีนายแพทย์สมเกียรติ บวรเสรีไผท รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ชมรมคนต่อสู้โรคเอสแอลอี และผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมเสวนาเป็นจำนวนมาก ณ ห้องประชุมเทพรัตน์การุญ 1 ชั้น 3 ศูนย์ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพผุ้สูงอายุ สภากาชาดไทย
พญ.พรเพ็ญ อัครวัชรางกูร เปิดเผยว่า โรคเอสแอลอี เป็นโรคที่เกิดจากภาวะภูมิต้านทานต่อต้านตนเอง มักจะเกิดในหญิงวัยเจริญพันธุ์ โรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกอวัยวะ อาจจะก่อให้เกิดความทุพพลภาพ ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจจะถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม ปัจจุบัน ในประเทศไทยพบผู้ป่วยที่เป็นโรคเอสแอลอีมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยยากดภูมิต้านทานเพื่อควบคุมโรค
ซึ่งการดูแลตนเองมีความสำคัญที่ช่วยให้ควบคุมโรคได้ดียิ่งขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนจากโรค และการรักษา จึงมีความสนใจในการพัฒนาทักษะการดูแลตนเองของผู้ป่วย ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ และสนับสนุนให้ครอบครัวของผู้ป่วยเข้ามามีส่วนช่วยในการรักษาของผู้ป่วย โดยร่วมมือกับชมรมคนต่อสู้โรคเอสแอลอี รวมทั้ง ผศ.ดร.ทศมา รัตนศิริพงศ์ พญ.ธนรัตน์ ศุภศิริ คุณพรเพ็ญ เมธาจิตติพันธ์ และเภสัชกรรุ่งนภา ส่งรัศมีทอง เป็นวิทยากรร่วมให้ความรู้
โรคเอสแอลอี เป็นโรคไม่ติดต่อ เป็นโรคที่เกิดจากภูมิต้านทานทำร้ายตนเอง โดยภูมิต้านทานไม่สามารถแยกแยะระหว่างสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย กับเซลล์ และเนื้อเยื่อของตนเอง ทำให้ภูมิต้านทานคิดว่าเซลล์ปกตินั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมจึงได้ไปทำร้ายเซลล์นั้น ซึ่งผลทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะนั้นๆ ซึ่งจะมีการอักเสบ ร้อน แดง บวม และอาจปวดได้ ถ้ามีการอักเสบเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้เนื้อเยื่อนั้นถูกทำลาย และไม่สามารถทำหน้าที่ได้ปกติ
รวมทั้งปัจจัยทางด้านพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความไม่สมดุลของฮอร์โมนในวัยเจริญพันธุ์ ความเครียด ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเช่น แสงแดด การติดเชื้อไวรัส ยา เป็นต้น