xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโลกเรียนรู้.. เด็กปฐมวัย ร.ร.ดังโคราชตะลุย “ด่านเกวียน” แหล่งเครื่องปั้นดินเผาของไทยชื่อก้องโลก (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คณะครูและเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนชั้นอนุบาล 1/9 (IEP) โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา นำเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง กว่า 70 คน ทัศนศึกษาที่ศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เปิดโลกกว้างแห่งการเรียนรู้ ร.ร.อนุบาลนครราชสีมา จับมือเครือข่ายผู้ปกครองจัดกิจกรรมส่งเสริมประสบการณ์นอกห้องเรียน นำเด็ก นร.ปฐมวัยตะลุย “ด่านเกวียน” แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาใหญ่สุดของไทยชื่อดังระดับโลก เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนและการผลิตสินค้าของดีโคราช พร้อมลงมือปั้นดินสร้างจินตนาการให้เด็ก “นายกเล็กด่านเกวียน” เผยสร้างรายได้เข้าโคราชปีละหลายร้อยล้านบาท



วันนี้ (16 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สุดสัปดาห์นี้ ที่ศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา คณะครูพร้อมเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน ชั้นอนุบาล 1/9 (IEP) โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นำโดย นางวรรณภา มังบู่แว่น ครูชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มปฐมวัย โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา และ นางนุสรา ทองคลองไทร ประธานเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1/9 ได้นำเด็กนักเรียนและผู้ปกครองกว่า 70 คนไปทัศนศึกษาเรียนรู้วิถีชุมชนและการผลิตเครื่องปั้นดินเผาสินค้าของดีโคราช ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เน้นให้ผู้ปกครองมีส่วนในการจัดกิจกรรมห้องเรียนละ 1 กิจกรรม


ทั้งนี้เพื่อเปิดโลกทัศน์และประสบการณ์ใหม่ให้เด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นการเรียนนอกห้องเรียนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กปฐมวัยมีความรักและภูมิใจในท้องถิ่น รวมถึงเป็นการให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเพื่อลูกหลานตนเอง ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาตามหลักสูตรปฐมวัย

การเดินทางลงพื้นที่ทัศนศึกษาครั้งนี้เจ้าหน้าที่และวิทยากรของเทศบาลตำบลด่านเกวียนได้นำคณะเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผา พร้อมชมประวัติความเป็นมาที่ยาวนานของชุมชนแห่งนี้ ก่อนนำเด็กๆ และผู้ปกครองนั่งรถไฟเยี่ยมชมหมู่บ้านผลิตเครื่องปั้นดินเผา และแหล่งจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผาแห่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครราชสีมา


พร้อมชมการสาธิตการผลิตเครื่องปั้นดินเผาจากปราชญ์ชาวบ้าน โดยให้เด็กๆ ได้ลงมือปั้นดินเป็นรูปสัตว์ที่ชื่นชอบ และขึ้นรูปดินเป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่น แจกันรูปแบบต่างๆ ไห โถ และนำเครื่องปั้นจากฝีมือตนเองกลับบ้านไปด้วย ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวสร้างความตื่นเต้นและประทับใจแก่เด็ก ครู และผู้ปกครอง ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ครู ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนจะได้นำกิจกรรมดังกล่าวมานำเสนอผลงานในรูปแบบการจัดนิทรรศการ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับห้องเรียนอื่น ในงานกิจกรรมผู้ปกครองปฐมวัยสัมพันธ์สร้างสรรค์ลูกรัก ซึ่งทางโรงเรียนจะจัดขึ้นต่อไป


นางฝน คงศักดิ์ตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลด่านเกวียน เปิดเผยว่า ศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งรวบรวมประวัติความเป็นมาและอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นด่านเกวียนไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ซึ่งเปิดให้ประชาชนได้เข้าเยี่ยมชมทุกคนในเวลาราชการ ที่ผ่านมามีคณะนักเรียน เครือข่าย อสม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งเข้ามาศึกษาดูงาน

ในอดีตหมู่บ้านด่านเกวียนเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล จ.นครราชสีมา เคยเป็นที่พักกองคาราวานเกวียนสินค้าที่ขึ้น-ล่องระหว่างโคราช-เขมร หรือที่เรียกกันมาว่า “ด่านเกวียน” ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก จนชาวข่า (ชนเผ่าตระกูลมอญ-เขมร) เข้ามาทำงานก่อสร้างโบสถ์ และได้นำดินมาปั้นเป็นภาชนะเผาเก็บไว้ใช้สอยในครัวเรือน จนเกิดเป็นอาชีพที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ฝึกฝน จนมีฝีมือในการทำเครื่องปั้นดินเผาในเวลาต่อมา



ลักษณะเฉพาะของเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนอยู่ตรงดินเหนียว ซึ่งมีลักษณะเป็นดินเนื้อละเอียด ขุดขึ้นมาจากริมฝั่งแม่น้ำมูล ในพื้นที่ชาวบ้านเรียกว่า กุด หรือแม่น้ำด้วน (เป็นลักษณะของลำน้ำคดเคี้ยว กัดเซาะตลิ่งจนขาด และเกิดเป็นลำน้ำด้วน) เป็นดินมีคุณสมบัติพิเศษ ง่ายต่อการขึ้นรูป ทนทานต่อการเผา ไม่บิดเบี้ยวหรือแตกหักง่าย และเมื่อถูกเผาไฟจะให้สีโดยธรรมชาติเป็นสีน้ำตาลแดง ซึ่งเป็นสีที่สวยได้รับความนิยม สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากธาตุเหล็ก (Iron Oxide) ในเนื้อดิน

สำหรับเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนมีความโดดเด่น ทั้งตัวสินค้าที่มีความแข็งแกร่ง ทนทาน และมีความสวยงามแบบมีเอกลักษณ์ รูปแบบงานปั้นที่มีความหลากหลาย ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวนิยมมาชมวิธีการผลิตและซื้อหาเครื่องปั้นดินเผาขนาดต่างๆ สร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดนครราชสีมาปีละหลายร้อยล้านบาท

แต่ปัจจุบันตลาดเครื่องปั้นดินเผาน่าห่วง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซารวมถึงประสบกับปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ต่างๆ และการขยายตลาดมีน้อย ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดตัวลงและธุรกิจค่อนข้างเงียบเหงา ซึ่งขณะนี้กำลังหาแนวทางในการช่วยเหลือ โดยเฉพาะการเปิดตลาดใหม่ๆ








กำลังโหลดความคิดเห็น