ประจวบคีรีขันธ์ - ทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เริ่มปฏิบัติการทำหมันลิงวัดเขาตะเกียบ ทม.หัวหิน ในวันแรก พร้อมตั้งเป้าดำเนินการจนถึงวันที่ 20 ก.ค.ให้ได้ 500 ตัว
วันนี้ ( 14 ก.ค.) นายพจน์ ทับประทุม หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ พร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สนธิกำลังลงพื้นที่จับลิงแสมบนเขาตะเกียบ ที่บริเวณลานเจ้าแม่กวนอิม วัดเขาตะเกียบ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทำหมัน่ตามโครงการควบคุมประชากรลิง หลังชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากการบุกเข้ารื้อค้นข้าวของตามบ้านเรือน แย่งชิงข้าวของ และทำร้ายนักท่องเที่ยวจนได้รับบาดเจ็บ
โดยเจ้าหน้าที่ได้นำกรงเหล็กสูง 2 เมตร ยาว 27 เมตร จัดวางไว้ที่บริเวณลานเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นสถานที่ให้อาหารลิง และได้นำผลไม้ต่างๆ วางไว้ในกรงเพื่อล่อให้ลิงเข้าไปกินอาหาร ก่อนจะทยอยปิดกรงทีละช่องจนเต็ม จากนั้นได้ทำการเคลื่อนย้ายลิงขนาดต่างๆ ขึ้นรถบรรทุก ไปยังศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับทำหมันลิง ที่เทศบาลเมืองหัวหิน จัดเตรียมไว้
นายพจน์ ทับประทุม หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ มีความเชี่ยวชาญ และชำนาญในการจับลิง ซึ่งการปฏิบัติการวันแรกได้ประสานงานร่วมกับทีมนายสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการคัดกรองลิง โดยเน้นลิงตัวผู้ อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แล้ว ส่วนลิงเพศเมียที่เข้ามาในกรงก็จะถูกทำหมันด้วยเช่นกัน
“การทำหมันลิงในครั้งนี้จะเน้นที่ตัวผู้เป็นหลัก โดยเฉพาะลิงจ่าฝูง ที่มีความฉลาดไม่ยอมเข้ากรงได้ใช้วิธีเป่าลูกดอกยาสลบ ขณะที่ลิงตัวเมียจะใช้เวลาทำหมันนานกว่า ซึ่งนอกจากนั้นยังจะคัดแยกลิงตัวเมียที่มีลูกอ่อนติดออกไป ก่อนเพราะหากนำลิงตัวเมียที่มีลูกอ่อนไปทำหมัน ก็อาจจะทำให้ลิงตัวแม่เครียดจากบาดแผลจนทำให้ทิ้งลูก ทั้งนี้ จากการสำรวจประชากรลิงพบว่า เฉพาะที่วัดเขาตะเกียบ มีลิงกว่า 1,500 ตัว ส่วนใหญ่มีร่างกายสมบูรณ์ เนื่องจากมีประชาชน และนักท่องเที่ยวให้อาหารทุกวัน ซึ่งการจับลิงวันนี้ไม่เป็นอุปสรรคมากนักโดยสามารถจับได้ประมาณ 300 ตัว” นายพจน์ กล่าว
ด้าน น.ส. กิตติยาภรณ์ เอี่ยมสะอาด หนึ่งในทีมนายสัตวแพทย์ ชำนาญการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า การดำเนินงานในวันแรกได้มีการแบ่งหน้าที่กัน โดยการทำหมันลิงตัวผู้ จะใช้เวลาตัวละประมาณ 15-20 นาที และมีเตียงสำหรับทำหมัน 7 เตียง เตียงทำแผล และเตียงสักรหัสลิงที่ผ่านการทำหมัน และยังได้จัดทำประวัติลิง ชั่งน้ำหนัก และเก็บตัวอย่างเลือด ซึ่งในวันนี้ทีมนายสัตวแพทย์ ทำหมันลิงได้ประมาณ 40 ตัวเท่านั้น เนื่องจากต้องรักษาแผลที่เกิดจากการทำร้ายกันในกรงก่อน
ขณะที่ น.ส. บุษบา โชคสุชาติ รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวว่า ตามแผนที่วางไว้จะต้องจับลิงทำหมันให้ได้ จำนวน 500 ตัว และในอนาคตจะจัดทำโครงการทำหมันลิงต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นการการแก้ปัญหาระยะยาว