จันทบุรี - ผู้รับซื้อผลไม้ในจันทบุรี หารือเครียดผลกระทบกฎหมายแรงงานต่างด้าว พบแรงงานกัมพูชายังผวากลับประเทศต่อเนื่อง ออกนอกประเทศทำงานในไทยลดลง เตรียมเคลื่อนไหวยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ เมืองจันท์ คสช. และรัฐบาล ให้ทบทวนกฎหมายฉบับนี้ ชี้ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ล้งต่างๆ เตรียมซื้อผลไม้ลดลง เพราะรู้ดีจะมีแรงงานทำงานลดลง ส่งผลต่อการซื้อขายผลไม้ กระทบสวนผลไม้ทุกสวนอย่างกว้างขวาง
วันนี้ (14 ก.ค.) ที่ห้องประชุมสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรี ตั้งอยู่ที่จุดผ่านแดนถาวร หมู่บ้านแหลม หมู่ที่ 4 ตำบลเทพนิมิต อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี สมาคมต่างๆ เช่น สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรี สมาคมชาวสวนลำไยจังหวัดจันทบุรี สมาคมผู้ส่งออกทุเรียน มังคุดแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้รับซื้อผลไม้ไทย หรือ “ล้ง” รวมทั้งสิ้น 18 ล้ง ร่วมกันประชุมเรื่องผลกระทบจากกฎหมายแรงงานต่างด้าว และกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายฉบับดังกล่าว
โดยที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นหลากหลายมุมมองที่เกี่ยวเนื่องต่อกฎหมายแรงงานต่างด้าว ทุกความคิดเห็นได้ข้อสรุปว่า จากนี้เป็นต้นไปจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการซื้อขาย และส่งออกผลไม้จากจังหวัดจันทบุรี เนื่องจากอัตราค่าปรับในการว่างจ้างแรงงานต่างด้าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีโทษปรับที่รุนแรงอย่างยิ่ง ปรับตั้งแต่ 10,000 ไปจึง 800,000 บาท กระทั่งทำให้เกิดความตื่นตระหนกในกลุ่มแรงงานชาวกัมพูชา โดยได้เริ่มกลับประเทศ และออกจากประเทศกัมพูชา มารับจ้างทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดที่ประชุมมีมติว่า จะร่วมกันเคลื่อนไหวให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายฉบับนี้ โดยจะยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี รัฐบาล และ คสช. ในเร็วๆ นี้
นายอำนาจ จันทรส อุปนายกสมาคมและเลขานุการสมาคมชาวสวนลำไย จังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า กฎหมายแรงงานต่างด้าวที่จะมีผลบังคับใช้ภายหลังสิ้นปี 60 นี้ ทำให้ล้งต่างๆ ไม่กล้าตัดสินใจซื้อผลไม้ และลำไยหลังจากวันที่ 1 มกราคม2561 ไปแล้ว เนื่องจากรู้ดีว่าจะมีปัญหาเรื่องแรงงานชาวกัมพูชาที่ทำงานกับล้งต่างๆ จะลดลงอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลทำให้ขาดแคลนแรงงาน จึงจะทำหนังสือยื่นไปยังผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพื่อให้ช่วยหาทางออกให้แก่ภาคเกษตร และอุตสาหกรรมผลไม้ต่อไป
นายอำนาจ เปิดเผยต่อไปว่า อยากจะเรียกร้องให้รัฐบาลได้ทบทวนกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับนี้ ขอให้มีการผ่อนปรนเรื่องการใช้แรงงานตามแนวชายแดนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการซื้อขาย และส่งออกผลไม้ ซึ่งหากไม่มีการทบทวนจะทำให้เกิดความเสียหายต่อชาวสวนผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี ทั้งจังหวัด