ศูนย์ข่าวศรีราชา - จัดหางานจังหวัดชลบุรี แนะสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง หลังรัฐบาลคลอด พ.ร.ก.คนต่างด้าว 2560
บ่ายวันนี้ (12 ก.ค.) สมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา โดย นายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ได้จัดประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ ประจำเดือนกรกฎาคม 2560 โดยวาระที่ 3 ของการประชุมได้รับเกียรติจาก นายสุธรรม บัวแก้ว จัดหางานจังหวัดชลบุรี มาให้ความรู้แก่สมาชิกสมาคมฯ ในเรื่อง พ.ร.ก.การบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560
จัดหางานจังหวัดชลบุรี ระบุว่า ตามที่ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้วันที่ 23 มิ.ย.2560 ที่ผ่านมา โดย พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 โดยมีการปรับปรุงกฎหมายให้บทบัญญัติครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ โดยเน้นการให้ความคุ้มครอง อำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งนายจ้าง และแรงงานต่างด้าว รวมถึงมีการเพิ่มโทษนายจ้างที่กระทำผิดกฎหมาย พร้อมดึงประชาคนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ คือ การเพิ่มโทษให้มีอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโทษปรับ “นายจ้าง” จากเดิมหากกระทำผิดเกี่ยวกับการจ้างงานแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะทำผิดต่อแรงงานต่างด้าวกี่คนจะรับรวมเป็นกรณีเดียว แต่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะปรับนายจ้างแยกตามจำนวนแรงงานต่างด้าวรายคน ทำให้โทษสูงขึ้น เช่น นายจ้างที่จ้างต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือนายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาทต่อต่างด้าว 1 คน เป็นต้น
ส่วนโทษของแรงงานต่างด้าวก็มีเพิ่มขึ้น เช่น คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คนต่างด้าวที่ทำงานจำเป็นและเร่งด่วนแต่ไม่แจ้งนายทะเบียน มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท คนต่างด้าวทำงานแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
สำหรับการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์นั้น พบว่า หากนายจ้างหรือผู้ใดยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000-1,000,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวมาทำงาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางาน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังเพิ่มกลไกการร้องทุกข์และเข้าถึงช่องทางการร้องทุกข์สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับความเสียหายจากการที่นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน ไม่ปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำในประเทศไทย ตาม พ.ร.ก.กำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 มีทั้งสิ้น 39 งาน โดยมติ ครม. ได้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ทำงานได้ 2 อาชีพ คือ งานกรรมกร และงานบ้าน จึงอยากให้ผู้บริหารธุรกิจในเมืองพัทยามีความพร้อมในการจัดการแรงงานต่างด้าวของตนเองให้มีความถูกต้อง และถูกกฎหมายตามแนวทางของรัฐบาลต่อไปด้วย