xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนเยียวยาผลกระทบ “ท่าเรือแหลมฉบัง” เฟส 3 ทั้งหาที่ทำกินใหม่-อุดหนุนงบประมาณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - เปิดแผนเยียวยาชาวบ้าน กลุ่มประมง และผู้มีอาชีพหาสัตว์น้ำในทะเล ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้าง ทลฉ.ระยะที่ 3 ทั้งอุดหนุนงบประมาณในการเคลื่อนย้ายฟาร์มเลี้ยงหอย กุ้ง ปู และปลา ให้เข้าไปอยู่ในที่ทำกินแห่งใหม่ของ ทลฉ. ในเนื้อที่ทางทะเล 500-600 ไร่ ภายใต้การดำเนินงานแบบธนาคารกุ้ง หอย ปู ปลา ที่จะมีการสนับสนุนสายพันธุ์ลงแหล่งน้ำไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัวต่อปี พร้อมจัดทำตลาดปลา และแหล่งจำหน่ายสินค้าชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่วนความวิตกกังวลของภาคท่องเที่ยวในเมืองพัทยา โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมยันจะดูแลถึงที่สุด



เมื่อเร็วๆ นี้ ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ได้ออกมาเปิดเผยต่อสี่อมวลชนถึงแนวทางการเยียวยาผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ว่า ที่ผ่านมา ท่าเรือฯ ได้ทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากชาวบ้าน และผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งในครั้งนั้นยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากภาคประชาชน จึงทำให้ในช่วงปลายปี 2559 ต้องจัดทำการประชาพิจารณ์อีกครั้ง กระทั่งผ่านความเห็นชอบ และมีข้อเสนอแนะจากภาคประชาชนให้จัดทำแบบการก่อสร้างในลักษณะคู่ขนานกันไป ซึ่งการทำประชาพิจารณ์ในครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยพบว่า ชาวบ้าน และชาวประมงยังคงมีความกังวลว่าท่าเรือฯ จะเยียวยาด้านผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการทำมาหากินอย่างไร เช่นเดียวกับภาคธุรกิจ และการท่องเที่ยวในเมืองพัทยา ที่กังวลในเรื่องการเคลื่อนตัวของชายฝั่ง และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

“มาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงหอยแมลงภู่ และกลุ่มอาชีพประมงพื้นบ้าน รวมทั้งประมงชายฝั่งนั้น จากการเก็บรวบรวมข้อมูล และทำการศึกษาก็ขอแจงต่อภาคประชาชนว่า ท่าเรือแหลมฉบัง และการท่าเรือแห่งประเทศไทย จะใช้พื้นที่ จำนวน 500-600 ไร่ในทะเล ซึ่งเป็นของท่าเรือฯ เพื่อกันไว้เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยจะแบ่งเขตให้ทำกินอย่างเท่าเทียมกันในลักษณะ ส.ป.ก.ที่ซื้อขายสิทธิไม่ได้ และระหว่างการเคลื่อนย้ายฟาร์มจากแหล่งทำกินเดิมมาอยู่ยังที่เพาะเลี้ยงแห่งใหม่ ท่าเรือฯ ก็จะจัดสรรค่ารื้อถอนให้ตามเกณฑ์กติกา โดยจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7-8 ล้านบาทต่อราย ส่วนผู้ที่มีอาชีพจับปู ปลา และปลาหมึกขาย ทลฉ.จะให้เลือกพื้นที่ดำเนินการภายใต้การดูแลของประมงอำเภอ โดยตั้งเป็นรูปแบบสหกรณ์ หรือชมรมฯ ในลักษณะนิติบุคคล เพื่อจัดตั้งธนาคารปู กุ้ง ปลา โดยจะมีเงินอุดหนุนในการดำเนินงานป็นรายปี และจะมีการปล่อยสายพันธุ์กุ้งลงในพื้นที่เพาะเลี้ยงใหม่ ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัวต่อปี”

นอกจากนั้ ยังจะสนับสนุนพื้นที่ขายสินค้าทางทะเลให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งท่าเรือฯ ได้จัดสรรพื้นที่บนบก จำนวน 55 ไร่ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนที่อยู่โดยรอบท่าเรือฯ ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งพักผ่อน สถานที่ออกกำลังกาย หรือแม้แต่การจัดทำตลาดปลา ให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อหาสินค้า โดยจะนำเรือประมงบางส่วนที่ไม่สามารถทำอาชีพต่อได้ มาสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมธนาคารหอย ปู ปลา และประชาชนในพื้นที่ยังสามารถนำบ้านที่มีมาดัดแปลงเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ความจำเป็นของการพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ก็เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทะเล โดยที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบัง ได้ดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือในโครงการ ระยะที่ 1 และ 2 ที่มีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าที่ 10.8 ล้านทีอียูเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากความเจริญเติบโตของประเทศ ทำให้การขนส่งสินค้าขยายตัวมากขึ้น และในปี 2559 ท่าเรือแหลมฉบัง มียอดขนถ่ายสินค้าผ่านท่าทั้งขาเข้าและออก จำนวน 7.06 ล้านทีอียู และยังมีอัตราการเติบโตที่ 5% ต่อปี จึงทำให้คาดการณ์ว่า ในปี 2560 จะมีตู้สินค้าผ่านท่าประมาณ 7.4-7.5 ล้านทีอียู
 
ซึ่งตัวเลขดังกล่าวทำให้ประเมินได้ว่า ท่าเรือฯ จะถึงขีดความสามารถสูงสุดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าและหากเต็มศักยภาพแล้วจะไม่สะดวกต่อการนำเข้าและส่งออกของไทย จึงต้องเร่งก่อสร้างท่าเทียบเรือใหม่ ที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างนานประมาณ 5 ปี แต่การก่อสร้างจะดำเนินการไม่ได้หากไม่ทำ EHIA ควบคู่ไปด้วย เพราะการก่อสร้างท่าเรือในระยะที่ 3 ถือเป็นโครงการที่ถูกจัดให้อยู่ในโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง และผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือ ผู้ที่อยู่บนบก และในทะเล โดยเฉพาะผู้ประกอบการประมง

“ส่วนปัญหาที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเมืองพัทยา กังวลในเรื่องการเคลื่อนตัวของชายฝังนั้น ที่ผ่านมาเราได้เฝ้าระวังว่าการพัฒนาพื้นที่โครงการในระยะที่ 3 จะทำให้การเคลื่อนตัวของชายฝังผิดเพี้ยนไปหรือไม่ จึงได้ดำเนินการปักหมุดบริเวณชายหาดต่างๆ จำนวน 9 คู่ ในระยะ 1 เมตร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก็พบว่าที่ดินของชาวบ้านในจุดที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบยังอยู่เหมือนเดิมโดยไม่มีการกัดเซาะ แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ มีที่ดินเกิดขึ้นใหม่ นั่นหมายความว่า มีดินที่เกิดจากการถม ซึ่งการจัดการของท่าเรือฯ ก็อยู่ในกระบวนการขุดลอก และขอยืนยันว่า ที่ที่งอกออกมาใหม่ไม่ใช่ที่ของท่าเรือฯ ส่วนกรณีที่ชาวบ้านขอให้ ทลฉ.ดำเนินการขุดลอกปากคลองบางละมุงนั้น เราได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่เมื่อ 3-4 ปีก่อน และขณะนี้ผู้รับเหมาก็อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่ง ทลฉ.ได้นำเรียนผู้บริหารระดับสูงของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว และได้มีการอนุมัติเหตุชอบให้ดำเนินการต่อเนื่อง”

และในกรณีที่หวั่นว่าการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อเมืองพัทยานั้น ร.ต.ต.มนตรี ยืนยันว่า จากผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า การกัดเซาะชายฝั่งจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ซึ่งใน EIA ระบุชัดว่า ในแต่ละพื้นที่ย่อมมีการกัดเซาะชายหาดเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ระดับไม่เกิดเลย เล็กน้อย ปานกลาง และสูงสุด ซึ่งสิ่งบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดคือ กรณีบ้านขุนสมุทรจีน บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ได้รับผลกระทบสูงสุดทั้งที่ไม่มีท่าเรือใดๆ เกิดขึ้น ขณะที่การกัดเซาะชายหาดเมืองพัทยา ถือเป็นพื้นที่ที่มีการกัดเซาะในระดับเล็กน้อย ประมาณ 5-10 เซนติเมตรต่อปี ตามรายงานการศึกษา และหากนับไปถึงระยะ 10 ปี ก็จะมีการกัดเซาะประมาณ 50 เซนติเมตร ซึ่งในส่วนของท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการปักหมุดไว้ตั้งแต่ปี 2541

“จุดนี้ขอเรียนว่า ทรายกับน้ำเป็นคนละชนิด ทรายมีน้ำหนักเคลื่อนตัวได้ไม่ไกล แต่ฝุ่นแป้งจะเคลื่อนตัวได้ไกล ดังนั้น ภาคธุรกิจเมืองพัทยา จึงไม่ต้องกังวลว่าทรายที่เกิดจากการถมพื้นที่โครงการจะฟุ้งไปไกลได้ถึง 10 กิโลเมตร แต่ปัญหาการกัดเซาะชายหาดในเมืองพัทยาเกิดจากสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเยอะ จึงถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างท่าเรือฯ ระยะที่ 3 อย่างไรก็ดี ขอยืนยันว่า ท่าเรือแหลมฉบัง จะดูแลรูปแบบการก่อสร้างให้เป็นไปตามการศึกษาและออกแบบ โดยเฉพาะการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างดีที่สุด” ร.ต.ต.มนตรี กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น