ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้ปลูกสับปะรดใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ยังไม่ได้รับผลกระทบจากราคาตกต่ำ เหตุโรงงานแปรรูปในพื้นที่ยังรับซื้อตามโควตา 100-150 ตันต่อปี ตามราคาหน้าสวน 4-5 บาท/กก. ปัจจัยสำคัญมาจากการควบคุมพื้นที่ปลูก จึงไม่ล้นตลาด นอกจากนั้น ยังควบคุมคุณภาพการผลิตด้านรสชาติที่หวานฉ่ำ ละมุนลิ้น ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ต่อความต้องการของตลาด และยังสามารถแปรรูปเป็นอาหารได้ทั้งคาว และหวาน
นายวรญาณ บุญณราช นายอำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวถึงสถานการณ์ของสับปะรดศรีราชา ในช่วงที่ราคารับซื้อผลผลิตสับปะรดตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 2.50 บาท ว่า ยังไม่กระทบต่อราคารับซื้อหน้าสวนของผู้ปลูกสับปะรดในพื้นที่ อ.ศรีราชา เนื่องจากความพิเศษในการผลิต ทั้งเรื่องการจำกัดพื้นที่ปลูกให้เหลือเพียง 1.5 หมื่นไร่ และควบคุณคุณภาพเรื่องความหวานฉ่ำ นุ่มละมุนลิ้น ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ตรงต่อความต้องการของตลาด ประกอบกับจำนวนผลผลิตในพื้นที่ที่มีไม่มากนัก จึงทำให้ไม่ประสบปัญหาสินค้าล้นตลาด
“ในวันนี้สับปะรดศรีราชา ยังถูกส่งขายในห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ ซึ่งขณะนี้แม้ราคารับซื้อหน้าสวนจะไม่สูงเท่าปีก่อนๆ แต่เกษตรกรก็สามารถอยู่ได้ และที่สำคัญ อ.ศรีราชา ยังร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งชุมชนต่างๆ พร้อมใจจัดงาน “สับปะรดหวานฉ่ำ ของดีเมืองศรีราชา ครั้งที่ 1” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชื่อเสียงของสับปะรดศรีราชา กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งในฐานะของดีของเมืองศรีราชา รวมทั้งยังประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้สับปะรดเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารคาว และหวาน เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคสับปะรดศรีราชาเพิ่มขึ้นอีกด้วย สำหรับงานดังกล่าวมีขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 ก.ค.นี้ ที่บริเวณลานด้านหน้าหอประชุม อ.ศรีราชา” นายวรญาณ กล่าว
เช่นเดียวกับ นางเจริญขวัญ ขาวเจริญ เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดใน ต.หนองขาม อ.ศรีราชา ที่กล่าวว่า ราคารับซื้อหน้าสวนสำหรับสับปะรดศรีราชา เมื่อเทียบกับราคารับซื้อสับปะรดจากพื้นที่อื่นๆ ยังพบว่า สับปะรดศรีราชา ยังคงมีราคารับซ้อที่สูงกว่า โดยสับปะรดที่อื่นๆ ราคารับซื้ออยู่ที่ 2.50 บาท แต่สับปะรดศรีราชา ราคาขายโดยตรงกับผู้บริโภคอยู่ที่กิโลกรัมละ 8-9 บาท สวนราคารับซื้อหน้าสวนอยู่ที่ 4-5 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาด ซึ่งราคานี้เราอยู่ได้
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้อยู่แค่เรื่องของราคาเพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกรยังต้องเจอกับปัญหาโรคระบาดในสับปะรด และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จนทำให้ผลผลิตออกไม่เต็มที่ จากระยะเวลาที่เคยกำหนดว่าผลผลิตจะออกในทุกปีครึ่ง ก็เลื่อนมาเป็น 3 ปี ทำให้การกำหนดระยะเวลาการดูแลดินหลังตัดผลผลิตออกขายต้องยืดออกไป
“ความแตกต่างของสับปะรดศรีราชา คือ ความหวานนุ่มลิ้น กรอบ และสามารถแปรรูปได้ทั้งของคาว และหวาน ซึ่งเราเคยนำสับปะรดจากที่อื่นมาแปรรูปก็พบว่า สู้ของเราไม่ได้ และขณะนี้การรับซื้อสับปะรดศรีราชา จากโรงงานในพื้นที่ยังคงเป็นปกติ คือ เป็นไปตามสัญญาในการจัดส่งสับปะรดเข้าโรงงานที่ 100-150 ตัน/ปี”
นางเจริญขวัญ ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาของผู้ปลูกสับปะรดทั่วประเทศขณะนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของราคาที่ตกต่ำเท่านั้น ราคาปุ้ยก็ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้เกษตรกรต้องรับภาระขาดทุน เพราะต้นทุนการผลิตที่สูง แต่ราคารับซื้อกลับต่ำ
“ในพื้นที่ศรีราชา เรายังไม่จำเป็นต้องลดพื้นที่ปลูก และจะยังทำกันต่อไป ด้วยหวังว่าวันหนึ่งราคาผลผลิตจะสูงขึ้น เพราะในอดีตเราก็เคยเจอราคาตกต่ำถึง 1 บาทต่อกิโลกรัมมาแล้ว แต่ก็ผ่านมาได้ เพราะนี่คืออาชีพหลักของเราที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ส่วนเรื่องของแนวโน้มการขายพื้นที่ปลูกสับปะรดเพื่อทำบ้านจัดสรร ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของพื้นที่ เพราะปัจจุบันผู้ปลูกสับปะรดในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ปลูกสับปะรดในพื้นที่เช่า ซึ่งหากเจ้าของพื้นที่ตัดสินใจที่จะขาย เราก็ต้องลดพื้นที่ปลูก แต่หากเจ้าของพื้นที่ยังคงเลือกที่จะรักษาพื้นที่ปลูกสับปะรดศรีราชา เราจะยังยึดอาชีพนี้อยู่ เพราะการปลูกสับปะรดขายยังสร้างรายได้ที่ดีให้แก่เรา” นางเจริญขวัญ กล่าว