แพร่ - กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ติดตามเร่งรัดการปรับปรุง “พิพิธภัณฑ์การป่าไม้แพร่” พร้อมออกแบบจัดแสดงภายใน เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ ข้อมูลประวัติศาสตร์การทำไม้ ยกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด
นายพิชิต บุญรอด หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงราย-ผู้แทนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) พร้อมด้วยส่วนราชการ ภาคประชาชน และสื่อมวลชน ร่วมกันตรวจติดตามเร่งรัดโครงการปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์การป่าไม้แพร่ เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู พร้อมออกแบบจัดแสดงภายในให้เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทำไม้ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด
เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาทำการศึกษาความเป็นมาของการป่าไม้ในประเทศไทย และศึกษาพันธุ์ไม้ป่าที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของเมืองแพร่ และยังเป็นการฟื้นฟูร่องรอยการพัฒนาป่าไม้ของประเทศไทยให้เห็นภาพในอดีต-ปัจจุบัน และอนาคตยังต้องพัฒนาไปอย่างไร
นางพิมพ์พันธุ์ เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันประชารัฐพิทักษ์ป่า เปิดเผยว่า พิพิธภัณฑ์การป่าไม้แพร่ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง เดิมเป็นของบริษัทอีสต์เอเชียติก (East Asiatic) จากเดนมาร์ก ซึ่งได้รับสัมปทานทำไม้สัก บริเวณริมแม่น้ำยมฝั่งขวาในจังหวัดแพร่
ซึ่งบริษัทอิสต์เอเชียติกได้เช่าพื้นที่ 6 ไร่จากรัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อใช้เป็นที่ทำการและที่พักพนักงานบริษัทฯ เมื่อหมดสัญญากรมป่าไม้ได้ตั้งกองโรงเรียนป่าไม้ ในปี พ.ศ. 2478 เปิดทำการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาการป่าไม้ หลักสูตร 2 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2536 รวมมีผู้จบการศึกษา 36 รุ่น จากนั้นได้ย้ายไปเปิดเป็นคณะวนศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้อำนวยการสถาบันประชารัฐพิทักษ์ป่ากล่าวว่า ในปี 2541 จึงได้ใช้อาคารทั้ง 3 หลัง เป็นพิพิธภัณฑ์การป่าไม้แพร่ หลังที่ 1 เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น เดิมเป็นที่พักและที่ทำงานของเจ้าหน้าที่บริษัทอีสต์เอเชียติก ที่ต่อมาใช้เป็นอาคารสโมสรของนักศึกษาป่าไม้ ใช้แสดงประวัติโรงเรียนป่าไม้ อุปกรณ์การเรียนการสอนของนักศึกษาป่าไม้ ชั้นล่างรวบรวมป้ายชื่อโรงเรียนป่าไม้ในยุคต่างๆ แต่ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม ไม่สามารถใช้การได้
ส่วนหลังที่ 2 เป็นพิพิธภัณฑ์ไม้สัก เดิมเป็นอาคารที่ทำการของบริษัทอีสต์เอเชียติก และเป็นที่ทำการของโรงเรียนป่าไม้ ได้ใช้แสดงภาพการทำไม้ในอดีตของประเทศไทย แสดงเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เกี่ยวกับการทำไม้ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากไม้ เรื่องราวของไม้สัก และตัวอย่างไม้ชนิดต่างๆ
และหลังที่ 3 เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่บนกำแพงเมืองเก่า เดิมเป็นที่พักของผู้บริหารของบริษัทอีสต์เอเชียติก และเป็นที่พักของอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนป่าไม้ ใช้แสดงภาพประวัติการทำไม้ และภาพที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ได้รับสัมปทานทำไม้ในจังหวัดแพร่ ซึ่งปัจจุบันทีสภาพทรุดโทรมเช่นกัน
นายสราวุธ วงศ์วิวัฒนา โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การปรับปรุงจะเน้นใช้โครงสร้างเดิมเป็นหลัก ปรับเปลี่ยนส่วนฐานรากที่ชำรุด ออกแบบให้คงรูปแบบเดิม