บุรีรัมย์ - เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราบุรีรัมย์ทยอยนำยางแผ่นและยางก้อนถ้วยออกขาย แม้ราคาตกต่ำยางแผ่นดิบเหลือเพียง กก.ละ 53 บาท และยางก้อนถ้วย กก.ละ 21 บาท เพราะต้องนำเงินใช้จ่ายในครอบครัว ไม่เห็นด้วยกับ 4 มาตรการที่รัฐออกมาช่วยเหลือชาวสวนยาง ไม่ได้ผลแค่ฉาบฉวยไม่ยั่งยืน
วันนี้ (14 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจากหลายอำเภอใน จ.บุรีรัมย์ และจังหวัดใกล้เคียง ได้ทยอยนำยางพาราแผ่นดิบและยางก้อนถ้วยมาขายที่สหกรณ์การเกษตรสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ แม้ช่วงนี้ราคายางจะตกต่ำ โดยยางแผ่นดิบเหลือเพียงกิโลกรัมละ 53 บาท ยางก้อนถ้วยเหลือกิโลกรัมละ 21 บาทก็ตาม เนื่องจากส่วนใหญ่จำเป็นต้องนำเงินไปใช้จ่ายในครอบครัว
ส่วนกรณีที่รัฐบาลออก 4 มาตรการเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง คือ 1. ขยายเวลามาตรการสนับสนุนสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราออกไปอีก 3 ปี 2. มาตรการสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวสวนยาง จากเดิมรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวสวนยางและคนกรีดยาง 1,500 บาทต่อไร่ แต่ไม่เกิน 15 ไร่ ในปีนี้จึงต้องการช่วยเหลือผู้ยังไม่ได้ลงทะเบียน เพื่อดูแลในลักษณะเดียวกันครอบคลุม 11,460 ครัวเรือน
3. การขยายเวลาชำระคืนหนี้เงินกู้จากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการมูลภัณฑ์กันชนดูแลราคายางพารา ครบกำหนดเดิมพฤษภาคม ปี 2560 ออกไปถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 และขอให้กระทรวงการคลังขยายเวลาค้ำประกันออกไปในช่วงเวลาเดียวกัน
และ 4. โครงการให้สินเชื่อผู้ประกอบการยาง ผ่านธนาคารพาณิชย์ วงเงิน 10,000 ล้านบาท เริ่มจากเดือนพฤษภาคม-เมษายน 62 คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 วงเงินชดเชย 300 ล้านบาท หวังผลักดันให้ราคายางพาราขยับเพิ่มเป็น 70 บาทต่อกิโลกรัมนั้น มองว่าเกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง และเป็นการช่วยเหลือแบบฉาบฉวยไม่ยั่งยืน หากจะช่วยเหลือเกษตรกรจริงควรจะประกาศนโยบายส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐเป็นวาระแห่งชาติ เชื่อว่าน่าจะช่วยเหลือได้อย่างยั่งยืนมากกว่านี้
นายโยธิน บตตะกาศ เกษตรกรชาวสวนยางรายหนึ่ง มองว่า 4 มาตรการที่รัฐออกมาเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางนั้นเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นไม่มีความยั่งยืน เพราะที่ผ่านมาพอถึงฤดูเปิดกรีดราคาก็จะตกต่ำทุกปี พอราคาตกต่ำทีรัฐบาลก็จะแก้ไขปัญหาเป็นครั้งคราวไม่ยั่งยืน ทำให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาเดือดร้อนทุกปี
จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการแก้ปัญหาราคายางแบบยั่งยืน โดยยางแผ่นดิบไม่ควรจะต่ำกว่ากิโลกรัมละ 70 บาท ยางก้อนถ้วยไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 40 บาทเกษตรกรผู้ปลูกยางจึงจะอยู่รอดได้