xs
xsm
sm
md
lg

สไตล์ลึกซึ้ง ททท.หนุนไกด์ท้องถิ่นสุโขทัยพาเที่ยวเส้นทางใหม่ “ตามรอยศิลา รากฐานศรัทธา รากฐานมรดกโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุโขทัย - กลุ่มมัคคุเทศก์วัฒนธรรมท้องถิ่นสุโขทัยจัดทริปพิเศษ พาเที่ยว “ตามรอยศิลา รากฐานศรัทธา รากฐานมรดกโลก” ททท.สุโขทัยหนุนใช้มัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่ไม่มีใครรู้ลึกซึ้งกว่า ทั้งหาแหล่งอันซีนใหม่ๆ ตลอดเวลา



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มมัคคุเทศก์วัฒนธรรมท้องถิ่นสุโขทัย ในโครงการของสำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (อพท.4) ทั้ง 3 รุ่นได้ร่วมกันจัดทริปท่องเที่ยวพิเศษ “ตามรอยศิลา รากฐานศรัทธา รากฐานมรดกโลก” มีหัวหน้าหน่วยงาน และผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวกว่า 40 คน ร่วมกิจกรรมครั้งนี้

โดยนั่งรถคอกหมูเอกลักษณ์ของสุโขทัย จากบริเวณลานจอดรถอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เดินทางไปยังจุดแรกที่วัดเชตุพน ซึ่งนักท่องเที่ยวขนานนามว่า “สโตนเฮนจ์เมืองไทย” เป็นโบราณสถานที่ใช้หินชนวนก่อสร้างสะพาน ซุ้มประตู และกำแพงแก้ว ภายในมีวิหารพระสี่อิริยาบถขนาดใหญ่ มีการพบศิลาจารึกชิ้นส่วนช่อฟ้าหิน หรือจารึกเจ้าธรรมรังสี ซึ่งกล่าวถึง “ศิลานี้นำมาแต่เขาพระขพงหลวง”

ก่อนเดินทางต่อไปยังวัดป่ามะม่วง ทางทิศตะวันตกของกำแพงเมือง ซึ่งได้ข้อมูลหลักฐานชื่อวัดจากหลักศิลาโดย “วชิรญาณภิกขุ” หรือรัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวชได้จารึกธุดงค์มาพบหลักศิลาจารึก 2 หลัก และโปรดให้เชิญไปเก็บรักษาพร้อมกับพระแท่นมนังคศิลาบาตร ภายหลังหน้าประวัติศาสตร์จึงถูกเปิดออก เมื่อได้มีการอ่านจารึก จึงพบพระนามพ่อขุนรามคำแหง ในศิลาจารึกอักษรไทยหลักที่ 1 และเรื่องราวของ (พระเจ้ารามราชผู้ปู่ ปลูกไม้ม่วงไว้เป็นท่องเป็นแถว) คือจารึกวัดป่ามะม่วงที่บรรยายเรื่องราวของวัด พร้อมทั้งแวะชมศึกษาที่วัดป่าสัก และวัดมังกร ซึ่งเป็นอาคารที่มีวิวัฒนาการร่วมสมัยอยุธยา ปรากฏใบเสมาถึง 3 ใบ อันหมายถึงการสามารถลงอุโบสถร่วมสังฆกรรมได้โดยสงฆ์ต่างนิกาย

จากนั้นเดินทางไปบริเวณหลังอ่างเก็บน้ำสรีดภงส์ ไปถึงยังเชิงเขาน้อย และเดินเท้าไปตามเส้นทางหาของป่า ขึ้นไปบนเนินเขาลูกเตี้ยๆ ระยะทางเพียง 50 เมตร ก็มาถึงยังจุดสกัดหินขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นหน้าผาสูง 10 เมตร ซึ่งมีร่องรอยของสิ่วโบราณสกัดนำหินออกมา ถัดขึ้นไปบนเขายังพบแอ่งสกัดหินขนาดใหญ่อีก 3 แอ่ง หรืออาจเรียกได้ว่าเขาลูกนี้เป็นเหมืองหินในสมัยโบราณ มีลักษณะเป็นหินชนวนเนื้อหยาบเหมือนกับหินที่พบในการก่อสร้างวัดเชตุพน

แล้วต่อด้วยการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขา มีสภาพป่าเบญจพรรณร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ ไปตามทางเก็บหาของป่าลัดเลาะไปตามสันเขาที่ไม่สูงชันนัก ระยะทาง 150 เมตร ก็มาถึงบริเวณยอดเขาน้อย ซึ่งสามารถชมวิวทิวทัศน์ได้อย่างสวยงาม มองเห็น “เขาตะโหงกงัว” ที่มีสัณฐานดั่งแท่งศิวลึงค์ รายล้อมด้วยภูเขาอันเป็นต้นน้ำไหลลงมาตามโซกเขา ลำห้วยสาขา ลงมายังสรีดภงส์ หรือทำนบพระร่วงโบราณสมัยสุโขทัย ซึ่งตรงจุดนี้นักท่องเที่ยวต่างก็เพลิดเพลินกับการบันทึกภาพวิวทิวทัศน์มุมสูงที่สวยงาม มีภูเขาเป็นฉากหลัง สามารถมองเห็นอ่างเก็บน้ำสรีดภงส์ได้ด้วย

นายรัฐพงศ์ บุญคำ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแผน อพท.4 เปิดเผยว่า เป็นกิจกรรมที่ดีมากที่มัคคุเทศก์ทั้ง 3 รุ่นได้มารวมตัวกัน ทั้งมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลก มัคคุเทศก์วัฒนธรรมท้องถิ่น และนักสื่อความหมาย ก็จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน โดยรุ่นน้องก็จะได้ประสบการณ์จากรุ่นพี่ ซึ่งจะช่วยพัฒนาประสบการณ์เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้

ดร.จารุวรรณ แดงบุบผา ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านการจัดการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มัคคุเทศก์ท้องถิ่นนี้เป็นความภาคภูมิใจของสถาบันเรา ต้องขอขอบคุณมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่ได้จัดทริปนำชมแหล่งสกัดหินโบราณ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ สำรวจและนำเสนอโดยมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเอง เป็นการเปิดการท่องเที่ยวในมุมมองใหม่ๆ ของสุโขทัย

การท่องเที่ยวกับมัคคุเทศก์ท้องถิ่นนี้มีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เข้าถึงท้องถิ่นได้ดีที่สุด ทั้งในมุมมองและองค์ความรู้ของท้องถิ่นเอง ซึ่งหลายสิ่งไม่มีทางที่คนภายนอกจะรู้ เช่น ทริปท่องเที่ยวครั้งนี้มีการพบแหล่งโบราณคดีใหม่ๆ ซึ่งใช้เป็นที่สกัดหินสำหรับใช้สร้างมรดกโลกสุโขทัย อันจะนำมาซึ่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน “ท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้งต้องไปกับมัคคุเทศก์ท้องถิ่น”

นางพัศลินทร์ เศวตรัตน์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย กล่าวว่า ทริปท่องเที่ยวนี้เป็นการท่องเที่ยวนอกรั้วของอุทยานประวัติศาสตร์ เป็นจุดอันซีนใหม่ของสุโขทัย การท่องเที่ยวกับมัคคุเทศก์ท้องถิ่นคนสุโขทัยจะทำให้ได้อะไรที่ลึกซึ้งมาก ได้รู้วิถีชีวิตของคนในสมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ขอเชิญชวนให้ท่องเที่ยวกับมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ซึ่งสุโขทัยยังมีของดีให้เที่ยวชมอีกเยอะมาก















กำลังโหลดความคิดเห็น