ตาก - จับตา “แม่สอดสปริง” สารพัดโครงการเชื่อมต่อ EWEC ดานัง-ย่างกุ้ง/อันดามัน ใกล้เป็นจริง ไทยเทงบช่วยพม่าปรับถนนต่ออีก 1,800 ล้าน อินเดียจัดงบหนุนฟื้นเส้นทางยุคอาณานิคม ปรับ 73 สะพานเก่าต่อจิ๊กซอว์จากมณีปุระ-มัณฑเลย์-ไทย-ลาว-เวียดนาม
“แม่สอด จ.ตาก-เมียวดี พม่า” ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญบนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือดานัง-อันดามัน (East-West Economic Corridor : EWEC) ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงถึง 7-8 หมื่นล้านบาท/ปี จากเดิมที่เคยอยู่ในระดับ 4-5 หมื่นล้านบาท/ปีเท่านั้น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนผ่านแม่สอด-เมียวดี เพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว เนื่องจากการพัฒนาเส้นทางจากเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี-กอกาเรก ที่เชื่อมต่อไปยังผาอัน-เมาะลำไย หรือเมาะละแหม่ง/ย่างกุ้ง พม่า ที่รัฐบาลไทยเคยให้งบสนับสนุนกว่า 1,400 ล้านบาท เสร็จสมบูรณ์ ทำให้การขนส่งคน-สินค้าระหว่างไทย-พม่าทำได้ทุกวัน จากเดิมที่ต้องลำเลียงผ่านเส้นทางบนเทือกเขาตะนาวศรี ที่ต้องจัดคิวให้รถวิ่งแบบวันเว้นวัน
ขณะที่สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 (อ.แม่สอด จ.ตาก กับจังหวัดเมียวดี) ก็มีการเชื่อมต่อให้เป็นเนื้อเดียวกันเมื่อ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังการดำเนินโครงการได้ก่อสร้างมาจนเกือบแล้วเสร็จ
และหลังจากนี้ “แม่สอด” ยิ่งน่าจับตา!!
นายจงจิตร เต็งยะ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวง ที่ 4 (ตาก) กล่าวว่า ล่าสุดรัฐบาลไทยจะให้งบประมาณในการสนับสนุนรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) อีก 1,800 ล้านบาท ในการก่อสร้างถนนเส้นทางเชื่อมต่อจากกอกาเรก ไปเมืองหลวงผาอัน-เมืองพะโค และกรุงหงสาวดี ระยะทางอีกประมาณ 68 กม.
โดยจะปรับปรุงเส้นทางเชื่อมจากกอกาเรก-เมืองเอ่งดุ่ ก่อนที่จะถึงเมืองผาอันประมาณ 30 กม. ต่อไปยังเมืองตะโถ่ง ซึ่งในช่วงนี้รัฐบาลเมียนมา ได้กู้เงิน ADB ในการดำเนินการก่อสร้างเอง ส่วนที่เหลือต่อจากเมืองเอ่งดุ่-ตะโถ่ง-ผาอัน-เมืองพะโค และกรุงหงสาวดีจะใช้งบสนับสนุนจากไทยพัฒนาเป็นถนนลาดยางแอสฟัลติก กว้าง 10 เมตร
“เส้นทางที่รัฐบาลไทยสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาเพิ่มเติมสายนี้จะเป็นเส้นทางเชื่อมการค้า-การท่องเที่ยว และศาสนาวัฒนธรรมทั้งสองประเทศ และจะมีประโยชน์อย่างมหาศาลในการขนส่งสินค้าระหว่างกันในอนาคต”
ขณะเดียวกัน นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้มีนโยยายพัฒนาระบบคมนาคม-ลอจิสติกส์ และขนส่ง ดำเนินโครงการทางหลวงเชื่อมอินเดีย-พม่า-ไทย ในระยะทาง 1,600 กิโลเมตร จากเมืองโมเรห์ เมืองชายแดนแคว้นมณีปุระ ผ่านเข้าสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) มาถึงเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 3 ของพม่าที่มีเส้นทางเชื่อมต่อมาถึงแม่สอด โดยจะเร่มก่อสร้างเสร็จในปลายปี 2561 และคาดว่าในต้นปี 2562 จะเปิดใช้
ก่อนหน้านี้ นายบัควันท์ ซิงห์ บิชนอย เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวเพรสทรัสต์ของอินเดีย ว่าโครงการทางหลวงเชื่อมอินเดีย พม่า ไทย ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในระยะทาง 1,600 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จใน 18 เดือน ด้วยการซ่อมแซมสะพานเก่าในยุคอาณานิคม สร้างในสมัยที่อังกฤษปกครองพม่า จำนวน 73 สะพานให้ใช้การได้ใหม่ โดยทางรัฐบาลอินเดียเป็นผู้ออกทุนในการซ่อมแซมให้
“หากสะพานเหล่านี้แล้วเสร็จ ประชาชนในสามประเทศสามารถใช้ทางหลวงสายนี้ในการคมนาคมได้สะดวก จากเมืองโมเรห์ แคว้นมณีปุระ ประเทศอินเดียมาแม่สอดได้ ซึ่งจะช่วยด้านการค้าและการท่องเที่ยว ระหว่างไทยและอินเดียให้ดีมากขึ้นด้วย”
นายจงจิตรยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้กรมทางหลวงยังสำรวจ-ศึกษาความเป็นไปได้ และแนวทางการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ตาก-แม่สอด ทล.12 หรือ AH16 ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นถนน 4 เลนตลอดทั้งสายด้วย โดยบริษัทที่ปรึกษากำลังดำเนินการ คาดว่าเดือนมีนาคม 2561 ก็จะแล้วเสร็จ
เบื้องต้นจะมีการขุดเจาะอุโมงค์ 2 จุด ที่บริเวณดอยรวก ต.แม่ท้อ อ.เมืองตาก และจุดที่ 2 ที่ดอยขุนเขาพะวอ ต.พะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งจะช่วยร่นระยะทางจากตาก-แม่สอด จาก 86 กม. เหลือเพียง 60-61 กม. ลดระยะเวลาในการเดินทางเหลือไม่เกิน 40-45 นาที
“ถ้าโครงการนี้เป็นจริงก็จะใช้เวลาราว 7-10 ปีในการก่อสร้าง”
ด้านนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการโครงการก่อสร้างปรับปรุงและขยายสนามบิน แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก วงเงิน 1,112 ล้านบาท ว่าคืบหน้าไปแล้ว 57.56% ถือว่าเร็วกว่าแผนที่วางไว้ 9.54%
ทั้งนี้ โครงการประกอบด้วย งานก่อสร้างทางขับ ลานจอดอากาศยาน และเสริมผิวทางวิ่งเดิม วงเงิน 297 ล้านบาท โดยก่อสร้างต่อเติมทางวิ่งจากเดิมขนาด 30x1,500 เมตร เป็น 45x1,500 เมตร และก่อสร้างไหล่ทางวิ่งทั้งสองข้างขนาดกว้าง 7.5 เมตร รวมถึงขยายทางขับ เพิ่มพื้นที่ลานจอดอากาศยาน ลานจอดรถยนต์ รถบัส และขยายถนนทางเข้าท่าอากาศยาน
นอกจากนี้ยังก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ พร้อมอาคารประกอบวงเงิน 447 ล้านบาท ตัวอาคารมีพื้นที่ขนาด 1.2หมื่นตารางเมตร สามารถรองรับ ผู้โดยสารได้.600 คน/ชั่วโมง หรือ 1.5 ล้านคน/ปี เริ่มดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาเมื่อวันที่ 19 พ.ค.59 มีกำหนดงานแล้วเสร็จภายใน 900 วัน
นอกจากนี้ยังมีงานก่อสร้างต่อเติมความยาวรันเวย์วงเงิน 368 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างตามสัญญา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 มีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 รวมเวลาดำเนินการ 700 วัน โดยเพิ่มความยาวทางวิ่งจากเดิมขนาด 45x 1,500 เมตร เป็น 45x2,100 เมตร
ทั้งนี้ สนามบินแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นหนึ่ง ในสนามบินที่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนบริหารสนามบินในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนรัฐ (พีพีพี) เพื่อขยายธุรกิจการบิน-รองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะเกิดขึ้นในอนาคต